นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เผยว่า ที่ประชุมกมว. ได้รายงานข้อมูลการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพซึ่งจัดขึ้นปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาปรากฎว่า มีผู้สอบผ่านวิชาครู ไม่ถึงร้อยละ40 เป็นที่น่ากังวล ขณะที่การสอบวิชาเอก โดยเฉพาะเอกภาษาอังกฤษไม่ถึงร้อยละ50 สะท้อนให้เห็นว่า การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือป.บัณฑิต ไม่มีคุณภาพ เพื่อเป็นการแก้ปัญหา ที่ประชุมจะสรุปผลสอบเป็นรายสถาบัน เพื่อดูอัตราการสอบผ่านของนักศึกษา เพื่อให้สถาบันนำตัวเลขไปปรับปรุงการเรียนการสอนต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือมาตรฐานวิชาชีพผู้บริหารการศึกษาและสถานศึกษา นายเอกชัย กล่าวต่อว่า โดยที่ประชุมยังหารือ การจัดทำมาตรฐานวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษาใหม่ อาจจะต้องมีการทบทวน ให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาไม่จำเป็นต้องจบปริญญาโทบริหารการศึกษาควรจะเปิดกว้างให้ผู้ที่จบปริญญาโทสาขาอื่นหรือจบปริญญาตรีแต่มีประสบการณ์ด้านการบริหารการศึกษา มีโอกาสเป็นผู้บริหารสถานศึกษาได้ โดยจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ ก่อนรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป “มาตรฐานวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. ฉบับใหม่ กำหนดไว้ชัดเจนว่า ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ต่อไปผู้บริหารสถานศึกษาไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตฯ โดยในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา กำหนดชื่อตำแหน่งใหม่ ว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” แทนคำว่า “ครูใหญ่” และไม่ใช้คำว่า “ผู้อำนวยการโรงเรียน” แต่ในกฎหมายก็เปิดช่องไว้ว่า จะเรียกเป็นชื่ออื่นก็ได้ตามประกาศหรือข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และกำหนดใหม่ว่า ให้ครูเป็น ผู้มีฐานะอันสูงส่ง ไม่ใช่ วิชาชีพชั้นสูง เพราะเป็นอาชีพที่มีความรับผิดชอบสูง จึงต้องกำกับด้วยใบอนุญาตฯและเปลี่ยนจาก ใบรับรองความเป็นครู ซึ่งได้รับการคัดค้าน มาเป็น ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู”นายเอกชัยกล่าว