นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินเฟ้อในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาหดตัวเล็กน้อย แต่ถือเป็นการหดตัวที่น้อยสุดในรอบ 13 เดือน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย หลังจากมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 14 เดือน โดยราคาสินค้าและบริการที่นำมาคำนวณเป็นอัตราเงินเฟ้อจำนวน 430 รายการ มีสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น 216 รายการ เช่น สินค้าอยู่ในกลุ่มเชื้อเพลิงพลังงาน อาทิ แก๊สโซฮอล์ เนื้อสุกร น้ำมันพืชและอาหารสำเร็จรูป ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 66 รายการ และสินค้าที่ราคาลดลง 148 รายการ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ข้าวสารเหียว ข้าวสารเจ้า ส่งผลให้สินค้าหมวดอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์หดตัวร้อยละ 0.26 ทั้งในกลุ่มข้าวแป้ง ไข่และผลิตภัณฑ์นม และกลุ่มผักสด ส่วนหมวดสินค้าอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.04 ทั้งหมวดยานพาหนะการขนส่งและสื่อสาร ตามราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกยังลดลงร้อยละ 0.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ประเมินว่า หลังจากนี้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในขาขึ้น กลับมาเป็นขยายตัวบวกตั้งแต่ในเดือนเมษายน เนื่องจากราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวสูงกว่าปีที่แล้ว และมาตรการหลายตัวสิ้นสุดลงโดยเฉพาะการช่วยเหลือค่าน้ำและค่าไฟฟ้า ดังนั้นจึงมีการปรับสมมุติฐานสำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 55-65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมที่ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 29-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัวลดลงอยู่ในกรอบร้อยละ 2.5-3.5 จากเดิมที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 แต่คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2564 ยังอยู่ในกรอบเดิมร้อยละ 0.7-1.7 หรือเฉลี่ยร้อยละ 1.2 เนื่องจากจากมีมาตรการรัฐออกมาออกมาดูแลภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน 8