ตอกย้ำเมืองตรังเที่ยวได้ทั้งปี ผ่านประเพณีวัฒนธรรมและอาหาร การท่องเที่ยวชุมชนของ จ.ตรัง ดำเนินไปอย่างธรรมชาติที่มีมานานแล้ว ด้วยความพร้อมของพื้นที่ ภูมิประเทศ อากาศ ทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรคนมีความคิดริเริ่ม มีการสร้างสรรค์จิตนาการ ผนวกกับมีความจริงใจ มีน้ำใจไมตรีที่ดี ทำให้การท่องเที่ยวชุมชนของ จ.ตรัง ก้าวย่างไปอย่างธรรมชาติ ไม่ได้สร้างหรือปรุงแต่ง การหันมาให้ความสนใจพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างจริงจังของ จ.ตรัง ผ่านหน่วยงานทุกภาคส่วน ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นการบูรณาการการดำเนินงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้มีแบบการดำเนินการที่ผ่านการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตตรัง ด้วยงบประมาณกว่า 10 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง ได้ต่อยอดการท่องเที่ยวโดยชุมชนของ จ.ตรัง ด้วยการเปิดตัว 12 ชุมชนสีเขียวเที่ยวได้ทั้งปี @ ตรัง โดยความร่วมมือของ 12 ชุมชนในการนำกิจกรรมเด่น อาหารดีที่มีเอกลักษณ์ ในแต่ละชุมชม มาให้ชิมมากว่า 40 รายการ บริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อตอกย้ำว่าเมืองตรังเที่ยวได้ทั้งปีและมีดีมากกว่าที่คุณรู้จัก นางสาวกรุณา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง เปิดเผยว่า การเปิดตัว 12 ชุมชนสีเขียวเที่ยวได้ทั้งปี@ตรัง มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วง Green Season และขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยว คุณภาพด้วยการนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชน Local Experience ผ่านประเพณีวัฒนธรรมและอาหาร ถิ่น ในเชิงท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ลึกซึ้ง เพื่อเน้นย้ำหนึ่งประสบการณ์ลึกซึ้งมากคุณค่ากว่าที่คิด “โดยมี ชุมชนนำร่องในปี 2560 นี้ จำนวน 12 ชุมชนประกอบด้วย 1.ชุมชนย่านเมืองเก่าทับเที่ยง : เก่าแต่เก๋า 2. ชุมชนเขาหลัก : ล่องแก่ง ชมถ้ำ เดินป่า 3. ชุมชนบ่อหิน : ชุมชนแห่งการเรียนรู้วิถีเล 4. ชุมชนบ้านน้ำราบ : ล่องแพ เข๋เรือ แลโกงกาง 5. ชุมชนเกาะลิบง : เก็บลิบงไว้หลงรัก 6. ชุมชนนาหมื่นศรี : ทอรักถักสายใย 7.ชุมชนล าขนุน : เที่ยวหลากหลายสไตล์สีเขียว 8. ชุมชนหยงสตาร์ : ความหลากหลายทางวัฒนธรรมแห่งคาย มาลายู 9. ชุมชนเกาะสุกร : กินแตง แหลงใต้ แลควายเล 10. ชุมชนบ้านเขากอบ : จรุงจิต จรุงใจ ในมงคล 11. ชุมชนหน้าเขาในวัง : เยือนถิ่นโบราณดินแดนแห่งหุบเขา และ 12. ชุมชนย่านซื่อ : วิถีจาก ไม่จากจร” นางสาวกรุณา กล่าว การเปิด 12 ฃุมชนดังกล่าวเน้นการขยายฐานตลาดผ่านวิถีการกิน เพราะอาหารสามารถเชื่อมโยงภูมิศาสตร์และเรื่องราว นอกจากอิ่ม ปาก อิ่มท้องแล้ว อาหารถิ่น 12 ชุมชนสีเขียว สามารถสร้างความอิ่มใจ และอิ่มเอม หนึ่งในความภาคภูมิใจ ของชุมชนชาวตรัง ซึ่ง 12 ชุมชนสีเขียวนี้ มีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน อีกทั้งวัฒนธรรม การกิน อาหารถิ่นก็ต่างกัน ซึ่งเป็นเสน่ห์ของ จ.ตรัง ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในอีกหลาย โครงการที่ ททท. จะดำเนินการตามแผนการตลาดต่อเนื่องปี 2561 ด้านนายศิริพัฒ พัฒกุล ผวจ.ตรัง อธิบายว่า การจัดการปัญหาไม่ว่า จะเป็นความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมถึงสิ่งแวดล้อมในชุมชน ที่จะต้องมีนั้น ดังนั้น จ.ตรัง จึงจัดให้มีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเป็นการเบื้องต้นเพื่อเป็นตัวนำร่อง เป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการที่ดี ทั้งเรื่องของแนวความคิด เรื่องอาหารการกิน ของที่ระลึกรวมถึงขยะ ของเสียที่จะเกิดขึ้นก็ต้องมี โดยแหล่งท่องเที่ยว 12 ชุมชนจะเป็นชุมชนต้นแบบ ที่จะทำให้ชาวบ้านในชุมชนมองว่า หากมีขยะเกิดขึ้นในพื้นที่จะช่วยกันแก้ไขอย่างไร ตรงนี้จะมีการการจัดการกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยแต่ละหน่วยงานจะต้องช่วยกันดูแล “หากมองสภาพปัญหาที่จะให้ในพื้นที่ได้รับรู้ในการแก้ปัญหานั้น จริงๆ แล้วไม่ต้องเข้าไปจัดการเลย ชาวบ้านในพื้นที่มีการจัดการกันเองมาก่อน ภาคราชการเพียงแต่เข้าไปแต่งเติมเล็กๆน้อยๆ ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เช่นการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย คุณภาพของการท่องเที่ยวในทุกมิติ อาจจะต้องเข้าไปจัดการดูแล ต้องเข้าไป โดยอาศัยหลักคิดว่า ในเมื่อชาวบ้านมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ราชการเป็นเพียงการเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุน อย่างมองว่า ท่องเที่ยวชุมชนเป็นเรื่องที่อ่อนแอ และเข้าไปสอนอย่างนี้จะถือว่าเป็นความล้มเหลว” นายศิริพัฒ กล่าว ความสำคัญอีกประการหนึ่งของการบูรณาการเสริมแต่งแหล่งท่องเที่ยวชุมชน มีการประสานความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ดังนั้นแหล่งท่องเที่ยว 12 ชุมชน มีสัญญาต่อกันว่าจะจูงมือเดินไปด้วยกันอย่างไร ใครทำหน้าที่อะไรอย่างไร ตรงจุดนี้จะรู้บทบาทหน้าที่กันเอง มีคำถามว่า เส้นทางการเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนมักจะไม่ได้รับความสะดวก ขอเรียนว่ามันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง แม้ว่าเส้นทางจะลำบากสักหน่อย แต่นักท่องเที่ยวก็ชอบ จากการดำเนินการด้านการท่องเทียวโดยชุมชนของ จ.ตรัง ดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลแล่ว ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ให้สามารถพึ่งตนเองได้ จึงเป็นอีกทางเลือกของนักท่องเที่ยวที่จะได้ท่องเที่ยวผ่านแหล่งท่องเที่ยว พร้อมอิ่มอร่อยกับอาหารอันเป็นอัตตลักษณ์ของเมืองตรัง เมืองคนช่างกิน เรียกว่าเที่ยวตรังได้ทั้งความสุข ความเพลิดเพลิน ที่สำคัญยังอิ่มอร่อย อย่างประทับใจเลยทีเดียว ทองขาล กันหาจันทร์ / ตรัง