“ยุทธนา เฮี๊ยะหลง" อดีต ผอ.ธ.ก.ส.กำแพงเพชร-เพชรบูรณ์ เปิดตัวท้าชิง "นายก อบต.ป่าพุทรา ” อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร พร้อมขออาสาทำหน้าที่ผู้แทนประชาชน เพื่อหวังเอาประสบการณ์ทั้งชีวิต มาพัฒนาท้องถิ่น ยึดหลัก "นายใหญ่คือประชาชน " ที่บ้านพักหน้า อบต.ป่าพุทรา อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร นายยุทธนา เฮี๊ยะหลง อดีตผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร (ธ.ก.ส.) ได้จัดงานพบปะสังสรรค์ เพื่อเปิดตัวลงสมัคร นายก อบต.ป่าพุทรา และ ขออาสาเข้ามาทำหน้าที่รับใช้พี่น้องประชาชน ในตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ป่าพุทรา โดยมี กำนันสุวิทย์ รัตนากร บิดา อดีตรัฐมนตรี “วราเทพ รัตนากร" ตลอดจนผู้นำท้องที่ ท้อองถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียง พ่อค้า นักธุรกิจ และประชาชนชาวบ้านตำบลป่าพุทรา ร่วมงานคับคั่ง ท่ามกลางบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น นายยุทธนา เฮี๊ยะหลง ว่าที่ผู้สมัครนายก อบต.ป่าพุทรา กล่าวว่า อดีตเคยดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.ธ.ก.ส.กำแพงเพชร และ ผอ.ธกส.เพชรบูรณ์ หลังจากเกษียณอายุราชการมาแล้วพบว่าปัญหาหลายด้านที่เกิดขึ้นอยู่ในท้องถิ่นเนื่องจากตนเป็นคนพื้นเพอยู่ในเขต อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร มองเห็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขส่งผลทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายพอสมควร การตัดสินใจที่จะลงสมัคร นายก อบต.คราวนี้ ได้มีผู้ใหญ่หลายท่านอยากจะให้ตนนำความรู้ ความสามารถ และ ประสบการณ์ที่สะสมมาพัฒนาท้องถิ่นบ้านของเรา จึงเห็นว่าตนมีความพร้อมมากที่สุด นายยุทธนา กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางการทำงานตามนโยบายเร่งด่วนไว้ 6 ประการ มีดังนี้ คือ 1.การทำแผนพัฒนาตำบลจะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาในระดับจังหวัดหรือระดับที่สูงขึ้น เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงานและมีให้ขาดโอกาสในขณะที่มีงบประมาณแต่ไม่สามารถดำเนินงานได้ 2.การพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ ผู้เจ็บป่วยตั้งแต่รับการดูแลช่วยเหลือโดยเฉพาะรถกู้ภัย พยาบาลฉุกเฉิน พร้อมเครื่องมือทางการแพทย์ที่ครบครันที่จะให้บริการประชาชนได้อย่างทันท่วงที 3.เป็นการส่งเสริมบทบาทสตรีให้มีภาวะผู้นำ การมีส่วนร่วม ทั้งการฝึกประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของชุมชน และ การสร้างเครือข่ายรวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน "4.เจ้าหน้าที่ อปพร.หรือ อสม.ดังกล่าวเป็นผู้ที่ทำงานด้วยความเสียสละเพื่อสังคม เพราะฉะนั้นในสิ่งเหล่านี้ทั้งเรื่องสวัสดิการ เรื่องการดูแลเพื่อให้เกิดความมั่นคง จึงเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการให้ได้รับค่าตอบแทนหรือสวัสดิการอื่น ๆ ตามที่ระเบียบกำหนด 5. เกษตรกรทุกครัวเรือนจะต้องได้เข้าเป็นลูกค้า ธกส.เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำและนำไปลงทุนประกอบอาชีพ ซึ่งจะไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบจากนายทุนเสียดอกเบี้ยจะแพงกว่ากฎหมายที่กำหนด และ เรื่องที่ 6 สุดท้าย คือ การแก้ปัญหาแหล่งน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรที่ถูกปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลานานจะได้มีการบูรณาการประสานความร่วมมือในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้ในพื้นที่เกิดแหล่งน้ำเพียงพอต่อพี่น้องเกษตรกร มีน้ำใช้ประกอบการทำกินตลอดทั้งปี ทั้งหมดเป็นภาพรวมในเบื้องต้นที่อยากจะทำให้พี่น้องประชาชน หากตนเองได้รับการไว้วางใจ ก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวให้ดีที่สุดภายใต้แนวทาง "นายใหญ่ คือ ประชาชน" นายยุทธนา กล่าว ++++++++++