น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัครส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี กล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลังรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปี2563ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่31มีนาคม โดยขอให้พี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวดังกล่าวที่มีความพยายามปั่นกระแสให้เกิดความวิตกกังวลว่ารัฐบาลถังแตก ซึ่งไม่เป็นความจริง และทำลายความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนในช่วงเวลาสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้เนื่องจากรายงานความเสี่ยงทางการคลังนั้น เป็นการรายงานประจำปี ที่ต้องรายงานให้กับคณะรัฐมนตรี เป็นวาระเพื่อทราบตามปกติทุกปี เหมือนกับหน่วยงาน องค์กรหรือบริษัทเอกชนต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายหรือมาตรการทางการคลังในปีต่อๆ ไป ไม่ใช่การแสดงฐานะการคลังของประเทศ ซึ่งจากการรายงานพบว่าจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลง เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวเพราะวิกฤติโควิด เนื่องจากพี่น้องประชาชน บริษัทห้างร้านต่างๆ มีรายได้ลดลง จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องปกติที่ภาษี ที่จ่ายให้กับรัฐต้องลดลงตามไปด้วย เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทุกประเทศ เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย กลับสู่ภาวะปกติ  เศรษฐกิจฟื้นตัว การจัดเก็บรายได้ก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การรายงานความเสี่ยงทางการคลังเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องประเมินตนเอง เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น “เปรียบเหมือนการตรวจสภาพรถ เพื่อความปลอดภัยและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ซึ่งพบว่าตอนนี้เครื่องยนต์ของรัฐบาลยังฟิต ขับเคลื่อนต่อได้ไม่สะดุด และจากมาตรการต่างๆจะเร่งเครื่องให้เศรษฐกิจประเทศไทยแล่นฉิว โดยไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกทั้ง Moody’s S&P’s และ Fitch ให้การยอมรับ  ที่สำคัญ จากผลการศึกษาของธนาคารโลก ระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทย และความเสี่ยงทางด้านหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ  ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ฉะนั้นการประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในขณะนี้ จึงไม่มีนัยยะใดๆที่ต้องกังวล”น.ส.ทิพานัน กล่าว น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า  รัฐบาลเตรียมรับมือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการลดกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี 2565 แต่ไม่กระทบการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ที่ยังมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี พร้อมกันนี้ยัง รัฐบาลยังเร่งนำนวัตกรรมทางการเงินการลงทุนใหม่ ๆ มาใช้เป็นแหล่งเงินทุนร่วมกับการใช้งบประมาณภาครัฐ เช่น การเร่งผลักดันการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ การลงทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมและมีความเชี่ยวชาญเข้ามามีบทบาทในการร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาประเทศ ส่วนเรื่องที่มีข่าวว่า จะมีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT นั้น น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด โดยยังคงอยู่ที่ 7 % ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% โดยเฉพาะฟิลิปปินส์นั้นเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงถึง 12% ขณะที่ค่าเฉลี่ยประเทศต่างๆทั่วโลก จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 15.51 % “ปัญหาคือ ฝ่ายการเมืองที่ไม่เข้าใจ หรือจงใจบิดเบือนปลุกปั่นแปลงสาร นำประเด็นนี้ไปขยายผลเพื่อหวังบ่มสถานการณ์ให้ร้อนแรง สอดรับกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ อยากเรียกร้องให้หยุดทำลายความเชื่อมั่นของประเทศ และทำร้ายประชาชน” น.ส.ทิพานัน กล่าว