เมื่อวันที่ 1 เม.ย.นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง หยุดใช้กรรมาธิการพร่ำเพรื่อ ระวังจะติดคุก มีเนื้อหา ระบุว่า กรณีเมื่อวานนี้ วันที่ 31 มี.ค. นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวว่า จากกรณีที่มีการพูดคุยอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ อ้างถึงการประชุมใหญ่ในศาลฎีกา โดยมีผู้สอบถามเหตุใดถึงไม่ให้ประกันตัวแกนนำกลุ่มราษฎรที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพราะผู้ถูกคุมขังไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แต่ประธานศาลฎีกากลับระบุมีบุคคลภายนอกสั่งมา แม้ในเวลาต่อมาโฆษกศาลยุติธรรมจะออกมาชี้แจงเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง แต่ก็เป็นการตอบที่สั้นเกินไป ไม่มีการอธิบายรายละเอียดเพียงพอ อาจทำให้เกิดการถกเถียง ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ในฐานะ ส.ส.ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ รวมทั้งศาลว่าได้ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระหรือไม่ ตนจึงจะได้นำประเด็นนี้เสนอต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ขอให้เชิญประธานศาลฎีกาหรือตัวแทนมาให้ความเห็นและชี้แจงต่อกรรมาธิการ ซึ่งทราบว่าจะมีการประชุมกันวันนี้เวลา 09.30 น.
อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุด้วยว่านายรังสิมันตุ์ โรม แส่ไม่เข้าเรื่อง เป็นการใช้กรรมาธิการก้าวล่วงอำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจสามฝ่ายที่ถ่วงดุลกันตามรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี และขัดกับพรบ.คําสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 มาตรา 5 ที่ห้ามมิให้ใช้บังคับกับผู้พิพากษาหรือตุลาการท่ีปฏิบัติตามอํานาจหน้าท่ี ในกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาอรรถคดี และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 หมวด 5 กรรมาธิการ ข้อ 97 ที่ระบุทำนองเดียวกัน เพราะถ้าปล่อยให้ใครก็ได้สามารถตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของศาลได้ จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของคำสั่งศาลหรือคำพิพากษาไม่ถึงที่สุด ที่สำคัญศาลมีระบบการตรวจสอบกันเองอยู่แล้วถึง 3 ศาล คือศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกานอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการตุลาการหรือกต.คอยควบคุมกลั่นกรองการปฎิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาอีกชั้นหนึ่งด้วย จึงเห็นได้ว่าเรื่องที่นายรังสิมันตุ์ โรมใช้เป็นเหตุผลในการจะเชิญประธานศาลฎีกามาชี้แจงไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการ หากกรรมาธิการเกิดบ้าจี้ตามนายรังสิมันตุ์ โรม จะถือเป็นการปฏิบัติหน้าโดยมิชอบเพราะขัดต่อกฎหมายเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ผมไม่ได้ต้องการปกป้องศาล แต่เห็นว่ากำลังมีการใช้กรรมาธิการเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างน่ารังเกียจ ซึ่งจะทำให้การทำงานของสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติเสื่อมเกียรติไปด้วย เพราะคนเป็นส.ส.ควรใช้กรรมาธิการเป็นเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนไม่ใช่ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองและพวกพ้อง อย่างที่นายรังสิมันตุ์ โรม กำลังจะดำเนินการในขณะนี้
"จึงขอเตือนไปยังนายรังสิมันตุ์ โรม และกรรมาธิการชุดนี้ที่กำลังจะประชุมกันเช้านี้ อย่าได้บ้าจี้ตาม มิฉะนั้นคนที่ลงมติเชิญประธานศาลฎีกาให้มาชี้แจงทั้งที่ไม่มีอำนาจ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายคำสั่งเรียกฯมาตรา 12 ที่บัญญัติว่า กรรมาธิการผู้ใดปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตจะติดคุกโดยไม่รู้ตัวนะจะบอกให้”นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย