มกอช. เปิดเวทีสัมมนาผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เติมความรู้การใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ยก “ฟาร์มแม่ปิงเกษตรธรรมชาติ” แปลงเกษตรอินทรีย์ต้นแบบปฏิบัติตามมาตรฐาน เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ปี 2564 เพื่อให้ผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ได้รับความรู้ความเข้าใจในการใช้และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานตามพ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง โดยมีผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทั่วไป จำนวน 3 มาตรฐาน ประกอบด้วย มาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ. 9001-2556) มาตรฐานสินค้าเกษตรเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ (มกษ. 9000 เล่ม 1) หลักเกณฑ์การปฏิบัติ : หลักการทั่วไปเกี่ยวกับสุขลักษณะอาหาร (มกษ. 9023-2550) และมาตรฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ดีด้านสุขลักษณะอื่นๆ เข้าร่วมสัมมนาทั้งสิ้น 45 คน ณ โรงแรมคุ้มภูคํา จังหวัดเชียงใหม่ นายพิศาล กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับพืชอาหาร และเกษตรอินทรีย์ ความรู้เกี่ยวกับการใช้และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ความรู้เกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ (DGT-Farm) และระบบการตามสอบสินค้าเกษตรและอาหาร (QR Trace) นอกจากนี้ ยังได้มอบป้าย หรือสติกเกอร์เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรให้กับผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับพืชอาหาร เกษตรอินทรีย์ และ GMP ทั้งนี้ ได้เลือกแปลงเกษตรอินทรีย์ บริษัท รินคำ กรุ๊ป จำกัด และแปลงปลูกผักอินทรีย์ ฟาร์มแม่ปิงเกษตรธรรมชาติ ของนายสุจิตร โนคำ ตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้นแบบในการปฏิบัติมาตรฐานสินค้าเกษตรเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ (มกษ.9000 เล่ม 1-2552) สำหรับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย และแปลงเกษตรอินทรีย์ต้นแบบภายใต้โครงการได้รับการสนับสนุนการตรวจสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตร โดย มกอช. จัดจ้างบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานที่ มกอช. ให้การรับรองระบบงานให้เป็นหน่วยรับรองเอกชน (CB) และมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 เป็นผู้ดำเนินการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างให้กับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายมีผลตรวจสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรปลอดภัยตามที่มาตรฐานกำหนด รวมทั้งสามารถแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด “เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายของโครงการ รวมถึงแปลงอินทรีย์ต้นแบบดังกล่าวได้รับใบรับรองมาตรฐานอินทรีย์จากสถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็น CB ที่ มกอช. ให้การรับรองระบบงานให้เป็นหน่วยรับรองเอกชนและดำเนินการยื่นขอรหัสรับรองให้กับเกษตรกรผ่านระบบศูนย์ควบคุมและตามสอบสินค้าเกษตรและอาหาร (Thai TRACES) และระบบกำหนดรหัสรับรอง https://tascode.acfs.go.th (e-Coding)”เลขาธิการ มกอช. กล่าว