เมื่อวันที่ 31 มี.ค.นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ฐานะโฆษก คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้ไข ในมาตรา 10 และ มาตรา 11 เพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มเนื้อหาในมาตรา 9 ให้สิทธิรัฐสภาและประชาชนเสนอเรื่องให้ออกเสียงลงประชามติ ว่า เป็นเบื้องต้น คือกำหนดกระบวนการ และขั้นตอนว่าด้วยวิธีที่รัฐสภา และประชาชน ต่อการเสนอเรื่องทำประชามติ โดยส่วนของรัฐสภานั้นจะกำหนดวิธีการเสนอ และลงมติ ที่ต้องใช้เสียงเห็นชอบเป็นข้างมากพิเศษ โดยไม่ใช่เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งเท่านั้น โดยคำนึงถึงสาระของรัฐธรรมนูญ มาตรา 156 และมาตรา 166 ด้วยเพื่อไม่ให้มีปัญหาที่เนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญ สำหรับสิทธิของประชาชน ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ต้องเสนอให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบกับประเด็นที่เสนอ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักการของมาตรา 166 “ผมขอให้ข้อมูลเพียงแค่นี้ เพราะที่ประชุมตกลงกันว่าจะนำเนื้อหาให้กมธ. พิจารณาวันที่ 1 เมษายน ส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมหรือประเด็นข้อขัดแย้ง” นายวันชัย กล่าว ขณะที่กมธ.ซีกฝ่ายค้าน กล่าวยอมรับด้วยว่ายังไม่เห็นเนื้อหาที่กฤษฎีกาปรับแก้ไขเนื้อหา โดยนายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ฐานะโฆษก กมธ.ฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนยังไม่เห็นเนื้อหาที่ปรับแก้และต้องรอในการประชุมวันที่ 1 เมษายน ทั้งนี้โดยหลักการที่แก้ไขมาตรา 9 ซึ่งเพิ่มสิทธิให้ประชาชนและรัฐสภา เสนอเรื่องทำประชามตินั้น ต้องให้ได้รับสิทธิและการเข้าถึงได้โดยสะดวกและไม่มีเงื่อนไขที่สร้างความยุ่งยาก ทางด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะ กมธ.ฯ กล่าวยอมรับว่าฝ่ายเลขานุการกมธ.ฯ​จะนำรายละเอียดให้กับกมธ.ฯ ดูในที่ประชุม อย่างไรก็ดีตนติดใจเพียงเล็กน้อยที่ฝ่ายเลขาฯ ไม่นำเนื้อหาที่ปรับแก้ให้กับกมธ.ฯ ได้พิจารณาก่อนเพื่อประโยชน์ของการทำงาน แต่เข้าใจได้ว่าคงมีประเด็นที่ไม่อยากให้เป็นข่าวไปก่อน ส่วนกรณีที่เนื้อหาปรับแก้ และกำหนดเงื่อนไขให้รัฐสภาใช้เสียงข้างมากพิเศษ เพื่อลงมติเรื่องที่จะส่งไปทำประชามตินั้น กมธ. ต้องหารือกันอีกครั้ง เพราะโดยหลักการที่หารือ คือเมื่อรัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบแล้วควรผูกพันกับรัฐบาล ที่จะดำเนินการ “หากกำหนดให้ใช้เสียงรัฐสภาข้างมากพิเศษตามที่นายวันชัย ให้ข่าวไป ยอมรับว่าอาจเป็นเรื่องยาก เพราะลำพังใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ที่ปัจจุบันต้องใช้เสียงเกิน370 เสียงยังถือว่าเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ในรายละเอียดต้องพิจารณากัน ส่วนหลักเกณฑ์ของภาคประชาชน ที่ต้องเสนอให้ครม. พิจารณาก่อนนั้นไม่ติดใจ เพราะเป็นสิทธิของครม. ที่สามารถพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบได้” นายณัฐวุฒิ กล่าว.