“นิพนธ์” เผย มาตรการดูแล ป้องกันโควิด-19 ช่วงสงกรานต์ปี 64 ใช้กลไก ศปถ.-อปท. + มาตรการป้องปรามอุบัติเหตุท้องถนน เน้นจุดตรวจเส้นทางเสี่ยง สายหลัก สายรอง เชื่อมต่อตำบล-หมู่บ้าน ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุ-ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ น้อยกว่า 5% เมื่อเทียบสถิติอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 29 มีนาคม 2564 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการ “NBT รวมใจ สู้ภัยโควิด 19” ถึงมาตราการดูแลและบริการประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลกำหนดให้การสร้างความปลอดภัยทางถนนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนโดยให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) บูรณาการทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง ผ่านกลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด อำเภอ และองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทำหน้าที่อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน มุ่งเป้าลดปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่สถิติอุบัติเหตุสูง ผ่านกลไกการทำงานของด่านชุมชน ด่านครอบครัวเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุในระดับพื้นที่ พร้อมปฏิบัติการเชิงป้องกันด้วยการจัดตั้งจุดตรวจในเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งเส้นทางสายหลัก สายรอง และเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างตำบล/หมู่บ้าน รวมถึงเสริมประสิทธิภาพการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ ผ่านกลไกพลังชุมชนและจิตอาสา ซึ่งจะเข้ามามีส่วนสนับสนุนปฏิบัติการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือประชาชนในการเดินทาง ทั้งในส่วนของการจัดตั้งด่านชุมชน การจัดตั้งจุดบริการ การดูแล ความปลอดภัยเส้นทางสัญจร สถานที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์และแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งปีนี้มุ่งเป้าลดจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บให้ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง “ รัฐบาลได้มีการผ่อนปรนการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน พร้อมขอความร่วมมือจากหน่วยงานในทุกภาคส่วนป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น และให้ความสำคัญต่อการลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด ใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น ในการบริหารจัดการแผนงาน แผนเงิน แผนคน จัดเตรียมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้พร้อมช่วยเหลือและส่งต่อผู้บาดเจ็บอย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่ ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินให้ได้เพื่อให้ประชาชนทุกคนปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน ” นายนิพนธ์กล่าว