วันที่ 29 มีนาคม 2564 ที่ห้องพิจารณาคดี 8 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 1786/2559 , 1787/2559 ,1788/2559, 1861/2559 , 1873/2559 ระหว่าง นายมนัส สร้อยพลอย นายอัฐฐิติพงศ์ หรืออัครพงศ์ ทีปวัชระ หรือช่วยเกลี้ยง นายทิฆัมพร นาทวรทัต นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และ นายภูมิ สาระผล ผู้ฟ้องคดีที่ 1- 5 ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี/ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ /ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง /เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 - 4 ต่อศาลปกครองกลาง กรณีมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยผู้ฟ้องคดีทั้งห้าฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ที่มีคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ลับ ที่ 453/2559 ลงวันที่ 19 กันยายน 2559 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ารับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กระทรวงพาณิชย์ กรณีการระบายข้าวโดยเจรจาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) โดยให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดเป็นเงินคนละ 4,011,544,752.33 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 4 รับผิดเป็นเงิน 2,242,571,739.67 บาท และผู้ฟ้องคดีที่ 5 รับผิดเป็นเงิน 1,768,973,012.66 บาท คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กระทรวงพาณิชย์ตามความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ในการระบายข้าวโดยการแบ่งหน้าที่กันทำในลักษณะจงใจกระทำต่อกระทรวงพาณิชย์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้กระทรวงพาณิชย์ได้รับความเสียหายตามสัญญาระบายข้าวรวม 4 ฉบับ คิดเป็นเงินจำนวน 20,057,723,761.66 บาท อันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีแล้ว มีเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไม่ต้องใช้เต็มจำนวนความเสียหายตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 การมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดี 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 รับผิดในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหายในแต่ละสัญญาที่แต่ละคนมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยให้ผู้ฟ้องคดี 1 ชดใช้ 4,011 ล้านบาท ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ชดใช้ 4,011 ล้านบาท ผู้ฟ้องคดีที่ 4ชดใช้ 2,242 ล้านบาท และผู้ฟ้องคดีที่ 5ชดใช้ 1,768 ล้านบาท จึงเป็นธรรมในแต่ละกรณีแล้ว แต่ในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ 3 เพิ่งมีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว การมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 3 รับผิดในอัตราร้อยละ 20 เท่ากับผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในสัญญาฉบับที่ 1 และที่ 2 ซึ่งบางส่วนเกิดขึ้นก่อนผู้ฟ้องคดีที่ 3 จะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว จึงไม่เป็นธรรม ดังนั้น จึงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ลับ ที่ 453/2559 ลงวันที่ 19 กันยายน 2559 เฉพาะในส่วนที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 2,694,464,066.21 บาท โดยให้รับผิดร้อยละ 10 ของสัญญาฉบับที่ 1และ2 และชดใช้สัญญาฉบับที่ 3-4 จำนวน 20% รวมชดใช้ 2,694 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1-5 ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ และคำสั่งตั้งคณะกรรมการรับผิดทางละเมิด รวม 4 ฉบับ คือ มีคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ลับที่ 453/2559 ลงวันที่ 19 กันยายน 2559 และคำสั่งตั้งคณะกรรมการรับผิดทางละเมิดที่ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลเห็นว่า หนังสือทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวมิได้มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1-5 และไม่ใช่คำสั่งทางปกครองที่จะมีผลกระทบ จึงพิพากษายกฟ้องผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 คน ยังสามารถยื่นร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน