“รมช.แรงงาน” เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงาน รับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย นำทีมกำหนดแผนขับเคลื่อนพัฒนาแรงงาน ดึงพันธมิตรร่วมทำงานกว่า 30 หน่วย
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ครั้งที่ 1/2564 โดยมีหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุม และอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำหน้าที่เลขานุการ ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ศาสตราจารย์นฤมล กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ ต้องการรับฟังข้อเสนอแนะ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงานป้อน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยคณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่กำลังแรงงาน กำหนดแผนปฏิบัติการ รวมถึงเชิญชวนบุคคลหรือคณะบุคคล ที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน เข้าร่วมจัดทำแผนพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การประชุมในวันนี้นับเป็นกลไกที่สำคัญที่จะทำให้การดำเนินการของคณะอนุกรรมการในระยะต่อไป มีความชัดเจนและมีประสิทธิผล
คณะอนุกรรมการที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ มีตัวแทนจากหลายหน่วยงาน เช่น ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้แทนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งการพัฒนาบุคลากรและกำลังแรงงาน เพื่อป้อนอุตสาหกรรม S-curve นั้น มีหลายหน่วยงานที่มีการจัดทำแผนและดำเนินการอยู่แล้ว การดำเนินงานดังกล่าว จึงควรบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้การพัฒนามีประสิทธิภาพ และตอบโจทก์ภาคอุตสาหกรรมได้
ศาสตราจารย์นฤมล กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้กำหนดให้แต่ละหน่วยงานที่มีข้อมูลและแผนพัฒนากำลังแรงงานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย จัดส่งข้อมูลเพื่อให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานรวบรวมและจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังแรงงานรองรับอุตสาหกรรม S-curve ภายในต้นสัปดาห์หน้า พร้อมนัดประชุมคณะอนุกรรมการอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2564 ซึ่งจะได้เห็นแผนพัฒนาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“การเตรียมแรงงานให้มีความพร้อมในอุตสาหกรรม S-curve จะช่วยให้แรงงานมีทักษะ ความรู้ ความสามารถ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานได้ ช่วยสร้างอาชีพการส่งเสริมการจ้างงาน และมีรายได้ที่มั่นคงต่อไป ข้อเสนอแนะจากที่ประชุม จะได้นำไปกำหนดแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนากำลังแรงงานต่อไป” รมช. แรงงาน กล่าวในท้ายสุด