พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ชวนเที่ยวงาน “รักษ์ทรัพยากรไทย” เรียนรู้พระราชปณิธาน และพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์พันธุกรรม เฉลิมพระเกียรติกรมสมเด็จพระเทพฯ เปิดอบรมวิชาฟรี ชม ช้อป สินค้าเกษตรอินทรีย์ กว่า 200 ร้านค้า 2-4 เมษานี้ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. พลอากาศเอก เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดเผยว่า พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ จัดงาน "รักษ์ทรัพยากรไทย" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และร่วมสืบสานพระราชปณิธานและเผยแพร่พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรม เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน การจัดงานในครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญของการสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปให้รู้จักและหวงแหนทรัพยากร พันธุกรรมท้องถิ่น เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติของไทยมีความสมบูรณ์ มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป โดยขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกท่านที่เข้าร่วมงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้มาร่วมงานทุกท่าน นิทรรศการที่พลาดไม่ได้ในงาน ได้แก่ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเผยแพร่พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์พันธุกรรม ตามด้วยนิทรรศการพันธุกรรมมันพื้นบ้าน นำเสนอเรื่องราวการอนุรักษ์พันธุกรรมมันพื้นบ้านที่มีความหลากหลายทั้งสายพันธุ์ ความมหัศจรรย์ของรูปร่าง สีสัน ขนาด และคุณค่า และการใช้ประโยชน์ตลอดจนเรื่องราวการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชกับวิถีวัฒนธรรม และนิทรรศการหัว ไหล เหง้า แง่ง แหล่งอาหารใต้ดิน จัดแสดงและถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ผู้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างภูมิคุ้มกันด้านอาหารจากพันธุกรรมพืชหัว ประกอบด้วย 7 ฐานการเรียนรู้ พร้อมฝึกปฏิบัติ ได้แก่ ฐานสวยด้วย กินได้ แม้อยู่ใต้ดิน ฐานบุก (เส้น) พืชเด่นกลางป่า ฐานใต้ปฐพีมีโปรตีน ฐานพิษหมดไปให้ความอร่อย ฐานสมุนไพรใต้ปฐพี ของดีมากคุณค่า ฐาน 108 พันธุ์ว่าน ตำนานความเชื่อ ฐานปรุงอาหาร ปรุงใจ ใช้พืชหัว กิจกรรมพิเศษในวันที่ 2 เมษายน 2564 เปิดบริการเข้าชม พิพิธภัณฑ์มหัศจรรย์พันธุกรรม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำเสนอเรื่องราวของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเพื่อให้เข้าใจถึงคุณค่า ความหมาย ความสำคัญ สะท้อนความหลากหลายของพันธุกรรม อันเป็นมรดกที่ทรงคุณค่าและประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ ผ่านเทคโนโลยี แสง สี เสียง ที่ทันสมัย กิจกรรม เพาะ แจก แลก เปลี่ยน พันธุกรรมพืช กิจกรรมพิเศษสำหรับเดือนเมษายน ส่งเสริมการอนุรักษ์และส่งต่อพันธุกรรมพื้นบ้าน สู่คนรุ่นใหม่ หรือผู้ที่สนใจ นำภาชนะเหลือใช้ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นแก้ว ขวด มาเพาะพันธุ์ไม้กลับบ้าน อบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายวิชาของแผ่นดิน และอบรมเชิงปฏิบัติการ อาทิ หลักสูตร“ไม้” มีค่ามากกว่าทอง โดยดร.เกริก มีมุ่งกิจ วนเกษตรเขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว หลักสูตรนวัตกรรมปลูกผักในพื้นที่น้อย โดยอาจารย์คมสัน หุตะแพทย์ สวนผักบ้านคุณตา กรุงเทพฯ หลักสูตรเลี้ยงไส้เดือนบนแปลงผักยกแคร่ โดยอาจารย์ชาตรี ต่วนศรีแก้ว ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง หลักสูตรสมุนไพรไทยสร้างภูมิต้านโรค โดยรศ.ดร.ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ กรุงเทพฯ หลักสูตรปลูก เพาะ ชำ พันธุกรรมพืช โดยอาจารย์วีรยุทธศรีเลอจันทร์ สวนเพชรพิมาย จ.นครราชสีมา หลักสูตรชีสเค้กมันม่วง โดยอาจารย์สุพัตรา อุสาหะ กรุงเทพฯ หลักสูตรผิวสวยด้วยผงถั่วเขียว โดยอาจารย์สุกัญญา หล่อตระกูล เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.ชัยนาท และอีกหลายวิชาที่น่าสนใจจากวิทยากรผู้มากความรู้และประสบการณ์ ชม ช้อปตลาดเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สินค้า ผลผลิตเกษตรปลอดภัยที่คัดสรรมาให้เลือกซื้อ สมุนไพรไทย ต้นไม้นานาพันธุ์ผักพื้นบ้าน ผลไม้ตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งหุ่ม รวมถึงอาหารพื้นบ้านคาวหวานทั้ง 4 ภาคที่มากด้วยคุณภาพจากผู้ผลิต ราคาเป็นกันเองกว่า 200 ร้านค้า แวะถ่ายรูป เช็คอิน ที่เส้นทางสืบสาน รักษา ต่อยอด wisdom farm เดินชมบัวนานาสายพันธุ์ บนสะพานไม้ไผ่ เรียนรู้วิถีเกษตรไทยที่บ้านเรือนไทย 4 ภาค สนุกสนานกับการทำนาโยนกล้า ดื่มด่ำเพิ่มความสดชื่นกับกาแฟอินทรีย์ที่ร้าน wisdom café ทั้งนี้ขอความร่วมมือทุกท่านปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อทุกท่านจะได้เข้ามาท่องเที่ยว เรียนรู้อย่างปลอดภัย สอบถามเพิ่มเติมได้ทางโทรศัพท์ 02-529-2212-13, 087-359-7171 พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ อยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลการุญเวช (นวนครเดิม) ริมถนนพหลโยธิน กม.46-48 จ.ปทุมธานี หรือทาง www.wisdomking.or.thLineID:@wisdomkingfan ทาง Facebook.:.พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ