ผู้คนในทวิตเตอร์และหัวข้อบทสนทนาต่างมีความหลากหลายและกว้างขวาง โดยหัวข้อการสนทนามีตั้งแต่เรื่องของอีคอมเมิร์ซ กีฬา ความงาม แฟชั่น หรืออาหาร ผู้คนทั่วโลกต่างคอนเน็คและพูดคุยสิ่งที่เกิดขึ้นหรือ #WhatsHappening แบบเรียลไทม์รวมถึงแบรนด์ต่างๆ ด้วยเช่นกัน ในช่วงเวลาที่แบรนด์จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน แบรนด์ต่างๆ จึงต้องมองหาวิธีใหมในการคอนเน็คกับผู้บริโภคและเพื่อสร้างการรับรู้ กระตุ้นให้เกิดความต้องการ และนำไปสู่การตัดสินใจซื้อสินค้า ในขณะที่บางแบรนด์อาจยังคงยึดติดอยู่กับยอดคลิก แต่บางแบรนด์ที่มองไปข้างหน้าต่างมีความเข้าใจเส้นทางของกลุ่มเป้าหมาย และพลิกกลยุทธ์การตลาด โดยเน้นไปที่การสร้างแรงบันดาลใจและคอนเน็คกับผู้ที่ติดตามแบรนด์ผ่านบทสนทนา
การสร้างบทสนทนา #ConverseToConvert เป็นพื้นที่ทางการตลาดรูปแบบใหม่ของแบรนด์ และยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการวางตำแหน่งของการเป็นผู้นำทางความคิด ทั้งนี้บทสนทนายังช่วยสร้างการรับรู้ในตัวสินค้าหรือแบรนด์ และยังเป็นวิธีที่ทรงประสิทธิภาพในการคอนเน็คระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังเป็นวิธีที่สามารถเปลี่ยนสถานะคนที่ติดตามแบรนด์ให้กลายเป็นลูกค้าได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทสนทนาบนทวิตเตอร์
นายอาร์วินเดอร์ กุจรัล กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวิตเตอร์ กล่าวว่า “การสนทนาคือพรมแดนของการตลาดรูปแบบใหม่ของแบรนด์ และทวีตได้กลายเป็นเสมือนสกุลเงินที่สำคัญของแบรนด์ไปแล้ว แบรนด์ที่เข้าใจการตลาดได้เดินหน้าไปไกลกว่าแค่ยอดคลิก และมีความเข้าใจถึงความสำคัญของบทสนทนา โดยเข้าใจดีว่า บทสนทนาสามารถสนับสนุนกลยุทธ์การตลาดแบบ marketing funnels ทั้งในการดึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ และการขยายบทสนทนาให้มีประสิทธิภาพสูง และยังใช้ประโยชน์จากพลังของบทสนทนาบนทวิตเตอร์เพื่อกระตุ้นการรับรู้แบรนด์ กระตุ้นให้เกิดความต้องการและนำไปสู่การตัดสินใจซื้อได้ในที่สุด”
ทวิตเตอร์นับว่ามีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการขับเคลื่อนบทสนทนา ด้วยสัดส่วน 4:1 ของผลตอบรับจากการสนทนาเมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ ซึ่งทำให้บทสนทนาบนทวิตเตอร์คือหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ทางการตลาดของแบรนด์ที่มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ผลวิจัยของทวิตเตอร์พบว่าบทสนทนาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ที่เพิ่มขึ้น 10% ส่งผลให้มียอดขายผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์เพิ่มขึ้นถึง 3%
5 เคล็ดลับที่แบรนด์ต้องรู้ในการสร้างกลยุทธ์บทสนทนา #ConverseToConvert
1.เพราะผู้บริโภคทุกคนไม่เหมือนกัน
อาจเป็นประโยคที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว แต่อยากให้ลองคิดไตร่ตรองว่าแต่ละแบรนด์ต่างมีน้ำเสียงของแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ ฉะนั้นจำเป็นต้องคิดถึงผู้บริโภคเป็นหลักว่า ใครคือผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ มีรสนิยมและสไตล์อย่างไรบ้าง แต่ละชุมชนต่างก็มีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกัน รวมไปถึงเรื่องของการใช้ภาษา สำหรับประเทศไทย ประชากรบนทวิตเตอร์ในประเทศไทยนับได้ว่ามีความหลากหลาย ซึ่งแบ่งออกเป็น Gen Y (37.6%), Gen Z (31.1%), Gen X (28.2%) และ เบบี้ บูมเมอร์ (3.1%) ผู้มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการให้ลำดับความสำคัญของคนแต่ละเจนล้วนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นการที่จะสื่อสารกับแต่ละกลุ่มประชากรก็ต้องมีความแตกต่างกันเช่นเดียวกัน
2.แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก
ทวีตข้อความเดียวอาจจุดประกายให้เกิดบทสนทนาได้ ดังนั้นต้องให้แน่ใจว่าการสร้างบทสนทนาต้องเป็นไปในแง่บวกและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แบรนด์ควรจะต้องมีภาพของความเป็นตัวของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ยินดีที่จะน้อมรับกับความคิดเห็นและฟีดแบ็กต่างๆ รวมถึงการให้คุณค่ากับไอเดียใหม่ๆ และคำแนะนำจากผู้บริโภคและนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ต่อไป ทวิตเตอร์นับเป็นช่องทางที่ทำให้แบรนด์สามารถเชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้ในแบบที่ไม่เหมือนกับช่องทางอื่นๆ ซึ่งด้วยจุดแข็งนี้จะช่วยให้แบรนด์สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและทำให้พวกเขาตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการได้
3.จากบทสนทนา...สู่ความต้องการซื้อ
บทสนทนาที่ดีจะสามารถช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้า อยากจะค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับสินค้านั้นๆ มากขึ้น อยากที่จะคลิกเข้าไปดูสินค้าในเว็บไซต์ หรืออยากที่จะใช้โค้ดหรือคูปองส่วนลดเพื่อซื้อสินค้า โดยคนที่เป็นกระบอกเสียงของแบรนด์สามารถกระตุ้นหรือช่วยจุดกระแสให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับสินค้าได้ จากข้อมูลของ Statista Global Consumer Survey พบว่า 59% ของนักช้อปออนไลน์ในประเทศไทยเห็นด้วยว่าการรีวิวของคนบนอินเตอร์เน็ตซึ่งช่วยให้พวกเขาตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าอะไร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความคิดเห็นต่างๆ ของผู้บริโภคคนอื่นมีความ สำคัญและอาจเปลี่ยนให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าได้ แบรนด์จึงจำเป็นต้องรับฟังทุกความคิดเห็นในบทสนทนา ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการชี้แจง และให้เหตุผลเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ
4.สร้างแรงบันดาลใจด้วยบทสนทนา
ระหว่างที่มีการสนทนาแบรนด์ควรระมัดระวังไม่ให้ดูพยายามตั้งใจขายสินค้ามากจนเกินไป เนื่องจากทวิตเตอร์เป็นสถานที่ที่ผู้คนเข้ามาพูดคุยและแบ่งปันความคิดเห็น ซึ่งการรีวิวที่จริงใจและตรงไปตรงมานี้เองที่เป็นกระบอกเสียงอันทรงพลัง แบรนด์จึงควรสนใจในบทสนทนา ทำความเข้าใจผู้บริโภคและเคารพพวกเขา พูดคุยแลกเปลี่ยนบทสนทนาให้ตรงกับหัวข้อนั้นๆ ไม่ใช่ตั้งใจขายแต่สินค้าอย่างเดียวเท่านั้น
5.คิดให้ไกลกว่าแค่ปิดการขาย
แบรนด์ส่วนใหญ่โฟกัสกับการสร้างการรับรู้ กระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อสินค้า และปิดการขายให้ได้ หรือนึกถึงแต่ยอดขายเป็นหลัก ซึ่งหลายๆ ครั้งไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น แต่มาถึงจุดที่แบรนด์อาจลืมไปแล้วว่าการสนทนากับลูกค้าเป็นพลังที่สำคัญ โดยการสนทนาสามารถสร้างความภักดีได้ ผู้บริโภคที่มีความพึงพอใจในตัวสินค้า สามารถกลายมาเป็นลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์ได้ การสนทนาจะนำไปสู่การกลายมาเป็นกระบอกเสียงที่ดีที่สุดของแบรนด์ ทั้งนี้ ทวิตเตอร์จึงเป็นพื้นที่พิเศษไม่เหมือนใครที่ผู้บริโภคสามารถแบ่งปันประสบการณ์ที่มีต่อสินค้าและสามารถสร้างอิทธิพลต่อคนอื่นๆ พร้อมทั้งสามารถกระตุ้นยอดขายให้กับแบรนด์ได้
การที่ต้องเข้าไปอยู่ในโมเม้นท์และเข้าไปมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคคือกุญแจสำคัญในการสร้างบทสนทนาระหว่างกลุ่ม เป้าหมายและนำไปสู่การเป็นลูกค้า ดังนั้นแบรนด์ที่เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีต้องนำบทสนทนาเข้ามาเป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ทางการตลาด นอกจกนั้น ทวิตเตอร์ยังมีอีกหลายฟีเจอร์สุดสร้างสรรค์ที่เป็นตัวช่วยให้แบรนด์สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้บริโภคและขับเคลื่อนบทสนทนา ไม่ว่าจะเป็น Promoted Trend Spotlight, Carousel Ad, Conversational Cards หรือ Twitter Threads
ปี 2020 นับเป็นปีแห่งการดิสรัปชั่นและเป็นปีที่ต้องอยู่ห่างกัน ซึ่งคงไม่ต่างจากปี 2021 นี้มากนัก บทสนทนาอันทรงพลังจะสามารถช่วยให้เกิดความรู้สึกที่เป็นปกติได้ในปีที่มีแต่ความไม่ปกติเกิดขึ้น และจะช่วยผลักดันให้ผู้คนเข้ามาคอนเน็คและขับเคลื่อนบทสนทนาบนทวิตเตอร์ให้เติบโตขึ้น ดังนั้น แบรนด์จึงจำเป็นที่จะต้องสร้าง #ConverseToConvert ให้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำการตลาดในปัจจุบัน