เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อมูล โดยระบุ ว่า...1 ปี สถานการณ์ฉุกเฉินรับมือโควิด: ผลกระทบต่อเสรีภาพในการชุมนุม ครบรอบ 1 ปี การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์โควิดระบาดในระลอกใหญ่มาแล้วสองระลอก นายกรัฐมนตรีประกาศขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกๆ เดือนมาแล้วเป็นคราวที่ 10 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 #เสรีภาพชุมนุมภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน 1. การมุ่งเน้นใช้ควบคุมการชุมนุมทางการเมือง เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพอันเป็นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย และได้รับรองในข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศภาคีมีพันธกรณีในการปฏิบัติตามทั้งการเคารพเสรีภาพดังกล่าวและให้ความคุ้มครองไม่ให้บุคคลอื่นมาละเมิดเสรีภาพของประชาชน แม้ในสภาวะฉุกเฉินซึ่งรัฐอาจเลี่ยงพันธกรณีในข้อ 21 นี้ได้ ตามข้อ 4 ของกติกาดังกล่าว แต่ก็มิได้หมายความว่า เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว รัฐจะจำกัดหรือละเมิดเสรีภาพดังกล่าวอย่างไรก็ได้ แต่รัฐจะต้องกำหนดมาตรการเพียงเท่าที่จำเป็นแก่สภาวการณ์และได้สัดส่วนเท่านั้น อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริง ปรากฎว่าตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโรคในระลอกแรกลดระดับลงแล้ว กิจกรรมทั้งที่เป็นการชุมนุมและมิใช่การชุมนุมแต่มีการรวมกลุ่มของบุคคล ก็มีแนวโน้มจะสามารถดำเนินกิจกรรมได้ แต่หากเป็นการชุมนุมทางการเมืองนั้น แม้การชุมนุมดังกล่าวจะเป็นไปอย่างสงบ และไม่ได้กระทำในสถานที่แออัดซึ่งเสี่ยงต่อเชื้อโรค ผู้ชุมนุมก็ยังถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง ไปจนกระทั่งการใช้มาตรการสลายการชุมนุมซึ่งมิได้เป็นไปตามหลักการสากล ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 ถึง 26 มีนาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 373 คน ในจำนวน 126 คดี จากจำนวนดังกล่าวเป็นการดำเนินคดีร่วมกันระหว่างข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จำนวนอย่างน้อย 34 คดี ขณะเดียวกัน ยังไม่มีรายงานว่าการชุมนุมทางการเมืองตลอดปีที่ผ่านมาครั้งใด ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นแต่อย่างใด 2. การบังคับใช้กฎหมายอย่างสับสนเพื่อเป็นภาระแก่ผู้ชุมนุม ในขณะที่พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายโดยตรงต่อสถานการณ์ดังกล่าว แต่รัฐเลือกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ทำให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งออกแบบมารองรับงานความมั่นคง ถูกนำมาใช้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ และกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างสับสน กำหนดให้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองยกเว้น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ โดยเจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้เฉพาะในส่วนที่เกิดประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ คือการกำหนดเงื่อนไขและโทษต่อผู้ชุมนุม ในทางตรงกันข้ามกลไกในการร้องขอต่อศาลสั่งให้เลิกการชุมนุม หรือการปฏิบัติตามแผนดูแลการชุมนุมสาธารณะกลับไม่เกิดขึ้น อาทิเช่น กรณีการสลายชุมนุมหน้ารัฐสภา ถนนเกียกกาย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 หรือกรณีผู้สื่อข่าวถูกยิงขณะสลายการชุมนุมวันที่ 20 มีนาคม 2564 บริเวณถนนข้าวสาร 3. การยกเว้นความรับผิด และความพยายามในการตรวจสอบถ่วงดุลผ่านกลไกศาล พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้กำหนดเรื่องการยกเว้นความรับผิดไว้ครอบคลุมในการพรมแดนทางกฎหมายเกือบทุกเรื่อง กล่าวคือ มาตรา 16 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ยกเว้นข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา 17 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประชาชนได้พยายามตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ผ่านกลไกตุลาการ ซึ่งยังพบว่ามีข้อจำกัดเนื่องจากการยกเว้นเขตอำนาจศาลปกครองและยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว อาทิเช่น การคดีฟ้องเพิกถอนสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งมีการดำเนินคดีเป็นไปได้อย่างล่าช้า และมีนัดชี้สองสถานในเดือนมิถุนายน 2564 ในขณะที่คดีฟ้องละเมิดกรณีผู้สื่อข่าวถูกยิงขณะสลายการชุมนุมวันที่ 20 มีนาคม 2564 บริเวณถนนข้าวสาร ศาลแพ่งได้ยกฟ้องภายในวันเดียว และล่าสุด คดีฟ้องละเมิดกรณีการสลายชุมนุมหน้ารัฐสภา วันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งยื่นฟ้องในวันที่ 26 มีนาคม 2564 นี้ หลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากสถานการณ์โควิดดำเนินมาครบ 1 ปี เพื่อไม่ให้การใช้กฎหมายพิเศษกลายเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ในสังคมไทย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่ารัฐควรนำพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร่งด่วน และดำเนินการแก้ไขพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้มีการตรวจสอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยรัฐสภา และในระหว่างการทบทวนมาตการดังกล่าว การบังคับใช้กฎหมายในสถานต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง เท่าที่จำเป็น ภายในระยะเวลาจำกัด เพื่อให้ไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร และยังสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ในเวลาอันรวดเร็ว อ่านรายงานทั้งหมดที่ https://tlhr2014.com/archives/27551