ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค.64 “ที่วัดท่าไม้ ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน” พระอาจารย์อุเทน สิริสาโร (พระญาณวิกรม) เจ้าอาวาสวัด ในฐานะ ปธ.มูลนิธิสิริสาโรภิกขุ จ.สมุทรสาคร พร้อม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และ รศ.ดร.บุญมี กวินเสกสรร คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, นางสาวจิตนิฎฐา วิยาภรณ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนเวชชานุกูล ได้ร่วมกับ ประธาน กก. บริษัท รมาญา ลาบอราทอรี่ จำกัด ได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการในการปลูกและวิจัย กัญชงและกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เชิงพาณิชย์ มีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมมาเป็นสักขีพยานในการลงนาม
สำหรับการปลูกและวิจัยกัญชงและกัญชา ในเชิงพาณิชย์ใช้ทางการแพทย์นี้ เป็นตามที่พระญาณวิกรม เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ ที่เล็งเห็นประโยชน์ของแพทย์แผนไทย เพื่อแพทย์ทางเลือกด้วยสรรพคุณของพืชสมุนไพร ขณะที่ทางวัดก็มีมูลนิธิสิริสาโรภิกขุ ที่ได้ส่งศิษยานุศิษย์ ไปศึกษาทางแพทย์แผนไทยหลายคนที่พร้อมจะดูแลด้านนี้ เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างโรงพยาบาลแพทย์ทางเลือก หรือคลินิกกัญชา ดังนั้นขณะนี้จึงมีการจัดทำ MOU กันระหว่างทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นศูนย์การศึกษาสำหรับนักเรียนระดับปริญญาโท สาขาเภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์อาหารและยาด้วย
พระอาจารย์อุเทน สิริสาโร (พระญาณวิกรม) เจ้าอาวาสวัด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมานั้นทางวัดได้สนับสนุนให้ชาวบ้านได้รวมกลุ่มกัน ในการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนโดยขณะนี้ก็จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนไปแล้วตามขั้นตอน ส่วนการบันทึกข้อตกลงร่วมมือคณะวิทยาศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา รวมทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเวชชานุกูล และบริษัท รมาญา ลาบาราทอรี่ จำกัด แล้วนั้นก็จะดำเนินการในขั้นต่อไป โดยพื้นที่เตรียมใช้ในการปลูก แบ่งเป็นที่ว่าง 2 จุด มีจุดที่ 1 มี 6 ไร่ และจุดที่ 2 จำนวน 10 ไร่ ทำแปลงใช้งาน ขณะที่ด้านต้นพันธุ์นั้นมาจากฟาร์ม จ.บุรีรัมย์ โดยมี อย.ช่วยสนับสนุน อย่างไรก็ตามลงมือได้ในเดือนเมษายน 64 นี้แล้ว สำหรับสมาชิกวิกลุ่มสาหกิจชุมชนก็มาร่วมดูแล การควบคุมการปลูกจากนักวิชาการเกษตร เพราะต้องปลอดภัยและอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งอนาคตชาวบ้านก็จะมีรายได้หลังจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจดังกล่าวนี้ด้วย
นอกจากในโครงการปลูกเพื่อทางการแพทย์นี้แล้ว อีกส่วนหนึ่งจะมีนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอก และเวชสำอาง อาทิ ลิปกลอส น้ำมันนวด สเปรย์ฉีดในอากาศที่ช่วยในการนอนหลับ สบู่ โลชั่น และใช้ผสมในอาหารบางชนิดด้วย แต่การทำยาที่ใช้ภายในไม่สามารถทำได้ พร้อมกันนี้การรองรับของคลินิกกัญชา จะให้ชาวบ้านเข้ามารับการรักษา และรับบริการได้ด้วยโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ