กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง นับเป็นการคงดอกเบี้ยนโยบายต่ำที่สุดเป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกัน ขณะที่เงินบาททรงตัวอยู่ที่ 31.04 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังการประชุม
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่เผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจสูงในระยะข้างหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2564 และ 2565 อยู่ที่ 3.0% และ 4.7% จากเดิมอยู่ที่ 3.2% และ 4.8% ตามลำดับ อันเป็นผลมาจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 จากแถลงการณ์ร่วมระบุว่า ความเสี่ยงสำคัญมาจากการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 การท่องเที่ยว และแรงสนับสนุนด้านงบประมาณ การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวอยู่ที่ 10% ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.7% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาเที่ยวประเทศไทยราว 3 ล้านราย จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.5 ล้านราย พร้อมกันนี้คณะกรรมการฯ ได้มีการปรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2564 ให้อยู่ที่ 1.2% จากเดิมอยู่ที่ 1.0%
ทั้งนี้เงินบาทยังทรงตัวอยู่ที่ 31.04 บาทต่อดอลลาร์ ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงถึง 3.3% ในปีนี้ และปัจจุบันอยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบ 5 เดือน กระแสเงินทุนไหลออกและความไม่แน่นอนของภาคการท่องเที่ยว คณะกรรมการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นเคลื่อนไหวอ่อนค่าสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยปรับสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
โดยคณะกรรมการ กนง. มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 โดยความเห็นของคณะกรรมการฯ วันนี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจ เมื่อคณะกรรมการฯ เน้นย้ำปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่องอย่างยากลำบากในกลุ่มที่ยังคงมีความเปราะบางสูง นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังได้เรียกร้องให้นโยบายระยะยาวของรัฐบาลนั้นมุ่งเน้นความสำคัญเชิงโครงสร้าง ซึ่งกรุงศรีคาดว่านโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยนั้นจะยังคงเดิมไปตลอดทั้งปี 2564 เนื่องจากความสำคัญยังคงอยู่ที่การใช้มาตรการและเครื่องมือต่างๆ ในการเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 อย่างตรงจุด แม้ว่าแนวโน้มภาพรวมการส่งออกจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นสอดคล้องกับวัฎจักรการค้าโลก