เมื่อวันที่ 24 มี.ค.64 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงาน “พลิกโฉมตลาดทุนไทยไปสู่ตลาดทุนดิจิทัล : เปิดตัวระบบ Digital Infrastructure ภายใต้ Sandbox ก.ล.ต.” โดยได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธานในงานเปิดตัวโครงการและแสดงเจตนารมณ์ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาและการใช้งานระบบ Digital Infrastructure ร่วมกับผู้เข้าร่วมโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล”ว่า จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รุนแรง ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับภาครัฐที่มีการดึงระบบดิจิทัลเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น ผ่านการผลักดันใน4ด้านสำคัญคือ การพัฒนากฎหมาย กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการทำธุรกรรมต่างๆ
โดยการยกระดับการให้บริการ และกระบวนการทำงานของภาครัฐให้อยู่ในระบบดิจิทัล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อรองรับการทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ และปลอดภัย รวมถึงการส่งเสริมและยกระดับบุคลากรที่มีขีดความสามารถ มีองค์ความรู้ในเรื่องดิจิทัล
ขณะที่ทิศทางของตลาดทุนในยุคที่ก้าวเข้าสู่ดิจิทัล จำเป็นต้องต้องยกระดับในส่วนนี้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลสำหรับตลาดทุนไทยในช่วงปี2560-2564หากดำเนินการได้จะส่งผลให้ตลาดทุนไทยขึ้นเป็นอันดับ3ของโลกในด้านดิจิทัล รองจากสิงคโปร์และสวิตเซอร์แลนด์
ทั้งนี้สิ่งที่ ก.ล.ต.จะต้องเร่งดำเนินการคือ การพัฒนากระบวนการดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทั้งการออกหลักทรัพย์ การซื้อขายหลักทรัพย์ ที่เป็นดิจิทัลทั้งหมด การนำเอกสารทั้งหมดเข้าอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะเริ่มที่หุ้นกู้ก่อน และการชำระเงิน ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้พัฒนาไปมากแล้ว โดยในการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนในวันที่30มี.ค.นี้ จะหยิบยกในเรื่องดังกล่าวหารือ รวมถึงจะต้องเป็นรูปธรรมก่อนการประชุมเอเปกในปี 2565
นายอาคม กล่าวอีกว่าได้ฝากโจทย์สำคัญ 5 เรื่องให้ ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลและวางทิศทาง ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาตลาดทุนได้แก่ 1.การใช้กลไกเครือข่ายตลาดทุนในการอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ประสบปัญหาสามารถดำเนินการต่อไปได้ 2.สร้างระบบการเข้าถึงระบบการเงินและตลาดทุนที่เท่าเทียมกันของประชาชน และ ธุรกิจขนาดเล็ก กลาง และใหญ่
3.การยกระดับความเชื่อมั่นและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนรวมถึงเร่งปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆและการจัดทำกฎเหล็กเพื่อให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการกำกับดูแลที่เข้มขึ้นขึ้นในเรื่องสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล(Digital Asset)และคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของ ก.ล.ต.และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) 4.การสนับสนุนให้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมเงินของกิจการที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล(ESG)และ5.ผลักดันให้ตลาดทุนรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยนำนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาปรับใช้ ทั้งในมิติของการพัฒนา กำกับดูแล และคุ้มครองผู้ลงทุน
นอกจากนี้ ก.ล.ต.จะต้องเร่งผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญของตลาดทุนแล้ว เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าตลาดทุนไทย จะเป็นตลาดทุนดิจิทัลที่สมบูรณ์ จึงอยากฝากอีก2เรื่อง คือ ระบบรักษาความปลอดภัยในการใช้ดิจิทัลทางการเงิน(Cyber Security)และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะต้องได้รับการให้ความยินยอม
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา หรือที่เรียก Digital Disruption นั้นเกิดขึ้นกับทุกอุตสาหกรรม ก.ล.ต. จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาระบบ Digital Infrastructure ของตลาดทุนไทยตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2562 โดยอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. เรื่อง Digital For Capital Market ที่มุ่งมั่นจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพตลาดทุน ยกระดับการกำกับดูแล และพลิกโฉมตลาดทุนไทยไปสู่ตลาดทุนดิจิทัล
โดยระบบ Digital Infrastructure จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในตลาดทุนให้อยู่บนระบบที่มีมาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม และปรับเปลี่ยนกระบวนการในตลาดทุนให้เป็นดิจิทัล 100% ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ (end-to-end process) เพื่อช่วยลดกระบวนการที่ซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจ สร้างความสะดวกและลดต้นทุนในการเข้าถึงตลาดทุนของผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน ตลอดจนช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจและตลาดทุน รวมทั้งกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่ง ก.ล.ต. ขอขอบคุณกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ที่ให้การสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาระบบ Digital Infrastructure ให้กับตลาดทุนไทย
ทั้งนี้ในการเปิดตัวโครงการครั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ให้เกียรติบรรยาย เรื่อง “โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกับการพลิกโฉมตลาดทุนไทย” โดยมีใจความโดยสรุปว่า “การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วที่ทำให้สิ่งใหม่เกิดขึ้นทดแทน (technology disruption) มีส่วนสำคัญต่อชีวิตประจำวันของผู้คน รวมถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมต่างๆที่เชื่อมโยงเข้าหากัน ซึ่งการนำพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับตลาดทุนจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนเข้าถึงตลาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และขอขอบคุณ ก.ล.ต. ที่เป็น disrupter ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดทุน”
สำหรับการพัฒนาระบบ Digital Infrastructure จะเริ่มที่ตราสารหนี้ภาคเอกชน และจะเชื่อมต่อระบบไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับตราสารหนี้ภาครัฐต่อไป ซึ่ง ก.ล.ต. จะควบคุมดูแลการพัฒนาและทดสอบระบบทั้งหมดก่อนเริ่มใช้งานจริงภายใต้โครงการ Sandbox ที่มีการจำกัดความเสี่ยงและยืดหยุ่นในเรื่องของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนเชื่อมั่นได้ว่าระบบดังกล่าวจะสามารถใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ และคาดว่าระบบจะพร้อมสำหรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นแรกได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2564
โดยในอนาคต ระบบ Digital Infrastructure จะมีการพัฒนาให้รองรับผลิตภัณฑ์ทุกประเภทในตลาดทุน เช่น การออกหลักทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัลโดยไม่มีกระดาษและลงนามด้วยลายมือชื่อแบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic signature) การลดระยะเวลาที่หลักทรัพย์จะพร้อมในการซื้อขายในตลาดรองจากเดิมที่ต้องใช้ 7-14 วัน ให้เหลือเพียง 1-2 วัน และการลดระยะเวลาส่งมอบและชำระราคาหลักทรัพย์จากเดิมอยู่ที่ T + 2 วัน ให้เป็นแบบ real-time (T + 0 วัน)