“เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทรงรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ทรงปลอดภัย และไม่มีพระอาการแพ้ใดๆ ด้าน “อนุทิน” เผยประเทศไทยกำลังมีวัคซีนของตัวเอง หลังเภสัชฯ คิดค้นประสบผลสำเร็จจากเชื้อตายโควิด ทดลองฉีดในอาสาสมัครแล้ว ส่วน “โควิดไทย” พุ่งปรี๊ด! ติดเชื้อ401 ราย ดับรายวันอีก1 “กทม.” ยอดพุ่งทำลายสถิติ 352 ราย ขณะที่ไวรัสมรณะทั่วโลกทะลุ 124 ล้านคน เมื่อวันที่ 23 มี.ค.64 เว็บไซต์ HRH Princess Sirivannavari Nariratana Rajakanya ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จฯยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ทรงรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากทรงอยู่ในกลุ่มบุคคลมีที่การเดินทางและพบปะผู้คนจำนวนมาก โดยการฉีดมี 8 ขั้นตอนตามระบบของกระทรวงสาธารณสุข เริ่มจากการลงทะเบียน, ตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต คัดกรองความเสี่ยง รับการฉีดวัคซีน, จัดห้องพักสังเกตอาการหลังฉีดเป็นเวลา 30 นาที มีแพทย์ประจำเฝ้าสังเกตุอาการ ทรงปลอดภัยและไม่มีพระอาการแพ้ใดๆ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ตนจะฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 2 ส่วนกรณีที่องค์การเภสัชกรรมได้ฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัคร โดยเป็นวัคซีนที่คนไทยผลิตเองจากเชื้อตายโควิด-19 นั้น วัคซีนตัวนี้ เป็นการร่วมกันพัฒนากับสถาบันทางการแพทย์ของอเมริกา เป็นวัคซีนที่ทำมาจากเชื้อตายของเชื้อโควิด-19 ซึ่งทางองค์การเภสัชกรรมมีเทคโนโลยีนี้ และมีโรงงานวัคซีนนี้อยู่แล้ว จึงได้มีการพัฒนาและวิจัยขึ้นมา จนมาถึงขั้นที่ได้ฉีดในอาสาสมัครจำนวน 100 กว่าคน โดยกว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้ก็ต้องผ่านการทดลองตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานทุกอย่าง “ถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้ เราก็จะมีวัคซีนไทยแลนด์ ซึ่งคนที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีก็คือคนไทย โดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งการพัฒนาก็จะเป็นไปในหลายรูปแบบ ทั้งการผลิตวัคซีนเอง และมาฉีดให้คนไทยเอง ซึ่งทราบว่าความสามารถในการผลิต คือ 30 ล้านโดสต่อปี นี่คือเบื้องต้น แต่ถ้ามันเวิร์ค เราสามารถขยายกำลังการผลิตได้ในอนาคต เพราะขนาดบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ยังผลิตได้ตั้ง 200 ล้านโดส ต่อปี สิ่งเหล่านี้คือการทำให้คนไทยทุกคนมั่นใจได้เลย” ด้าน ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ไทยล่าสุด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 401 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 383 ราย (แยกเป็นจากการเฝ้าระวังในระบบบริการสุขภาพ 46 ราย และจากการตรวจค้นหาเชิงรุกในชุมชน 337 ราย โดยพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในกรุงเทพฯ 352 ราย อายุน้อยที่สุด 5 ปี ) และติดเชื้อจากต่างประเทศ 18 ราย ทั้งนี้การคัดกรองเชิงรุกมีรายงานผู้ติดเชื้อแล้ว 15,829 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสมจำนวน 28,277 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นผู้ป่วยชายอายุ 75 ปี มีโรคประจำตัวคือ ลิ้นหัวใจรั่ว ความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ อาศัยอยู่ในกทม. วันที่ 14 มี.ค.64 เริ่มมีไข้ ไอ เจ็บคอ เข้ารับการตรวจหาเชื้อ ยืนยันพบเชื้อ วันที่ 15 มี.ค.64 อาการแย่ลง และเสียชีวิตวันที่ 19 มี.ค.64ทำให้ยอดเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 92 ราย รักษาหายเพิ่มอีก 103 ราย รวมยอดผู้ป่วยรักษาหาย 26,766ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 1,419 ราย ขณะที่ สถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยังคงแพร่ระบาดอย่างหนักในพื้นที่ 219 ประเทศ ส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 124,300,248 ราย ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตได้เพิ่มจำนวนเป็น 2,735,343 ราย และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 100,282,210ราย โดยสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลก จำนวน 30,576,962 ราย ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตมีจำนวนมากที่สุดในโลกเช่นกันที่ 555,945 ราย และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 22,846,003 ราย