สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. เป็นหน่วยงานในการกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดำเนินการตามพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 โดยเป็นหน่วยงานที่สามารถดำเนินการด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ขั้นการวิจัยพัฒนา จนถึงขั้นการผลิตและจำหน่าย เพื่อตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 และการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ 11 (S - Curve 11) ของรัฐบาล เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ด้วยการผลิตยุทโธปกรณ์ภายในประเทศ ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณและลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ
สทป. ได้กำหนดเทคโนโลยีเป้าหมาย 5 ด้าน ได้แก่ 1) เทคโนโลยียานไร้คนขับ 2) เทคโนโลยียานรบและระบบอาวุธ 3) เทคโนโลยีการจำลองยุทธ์และการฝึกเสมือนจริง 4) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางทหาร และ 5) เทคโนโลยีจรวดและอาวุธนำวิถี สทป. ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาด้านหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด จำนวน 4 โครงการย่อย แบ่งเป็นการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) จำนวน 1 โครงการ และการวิจัยและพัฒนาต้นแบบ จำนวน 3 โครงการ ซึ่งสอดคล้องตามแผนแม่บทการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานไร้คนขับ ดังนี้
โครงการที่ 1 การวิจัยพื้นฐานหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด
โครงการที่ 2 การวิจัยและพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก (D-EMPIR)
โครงการที่ 3 การวิจัยและพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดกลาง (D-MER)
โครงการที่ 4 การวิจัยและพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์ตรวจการณ์ขนาดพกพา (NOONAR)
สทป. ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดในรูปแบบการบูรณาการความร่วมมือจากทั้งสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม เพื่อบูรณาการขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดให้สามารถตอบสนองภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน เพื่อให้สอดคล้องตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ที่ได้ลงนามร่วมกัน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ในกรอบระยะเวลา 4 ปี สิ้นสุดในปี 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เพิ่มเติมอีก 3 ปี จนถึงปี 2565 การดำเนินการที่สำคัญ
โครงการที่ 1 การวิจัยพื้นฐานหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด
เริ่มต้นจากการศึกษาความเป็นไปได้ในปี พ.ศ. 2559 โดยการรวบรวมความต้องการของหน่วยผู้ใช้งาน รวมทั้งการแสวงหาความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา ที่มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย และภาคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดเป็นต้นแบบและองค์ความรู้อันทรงคุณค่าในหลายสาขา ได้แก่ การพัฒนา
หุ่นยนต์ขนาดกลางที่สามารถเคลื่อนที่ได้รอบทิศทาง (Omni-directional Platform) องค์ความรู้ระบบนำทางหุ่นยนต์ (Vision-based Closed-loop Control for Robot Navigation) การตรวจหาเป้าหมายอัจฉริยะโดยใช้เรดาร์ทะลุพื้นดิน ต้นแบบและองค์ความรู้ในการพัฒนาระบบขับเคลื่อนหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดกลาง (แบบสายพาน)
องค์ความรู้ในการพัฒนาประสิทธิภาพของเซ็นเซอร์ขยายสัญญาณรามานสำหรับตรวจหาวัตถุระเบิด และการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับตรวจการจับวัตถุระเบิดจากภาพเอกซเรย์ ซึ่งสามารถนำไปขยายผลเพื่อนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าขึ้น พร้อมกับถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ภาคประชาสังคมได้ต่อไปในอนาคต
โครงการที่ 2 การวิจัยและพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก (D-EMPIR)
การวิจัยและพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก (D-EMPIR) ได้ถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบา เจ้าหน้าที่สามารถพกพาไปปฏิบัติงานได้สะดวก เหมาะกับการใช้งานในระดับยุทธวิธี การพิสูจน์ทราบ ลาดตระเวนตรวจการณ์ และสำรวจพื้นที่เป้าหมาย ง่ายต่อการใช้งาน สามารถปฏิบัติงานต่อเนื่อง 1-2 ชั่วโมง คงทนต่อสภาพแวดล้อม รองรับด้วยมาตรฐานสากล สามารถปีนและไต่ทางลาดชันได้ไม่น้อยกว่า 35 องศา ควบคุมและสามารถสั่งการแบบไร้สายระยะไกล 200 เมตร รองรับการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ช่วยในการสนับสนุนภารกิจที่หลากหลาย เช่น ปืนยิงทำลายวงจรวัตถุระเบิด ระบบเอกซ์เรย์วัตถุระเบิด ปัจจุบัน สทป. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (มทม.) ในการพัฒนาปรับปรุงหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก (D-EMPIR) จนมีสมรรถนะที่เพียงพอและสามารถตอบสนองความต้องการได้ ในระดับความพึงพอใจ ดีมาก
โครงการที่ 3 การวิจัยและพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดกลาง (D-MER)อยู่ในขั้นตอนวิจัยและพัฒนา ทดสอบทดลองและพัฒนาปรับปรุงต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด
ขนาดกลาง (D-MER)
โครงการที่ 4 การวิจัยและพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์ตรวจการณ์ขนาดพกพา (NOONAR)
การวิจัยและพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์ตรวจการณ์ขนาดพกพา รุ่นหนูนา (NOONAR) มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนภารกิจการตรวจค้นและการพิสูจน์ทราบ โดยมีการออกแบบและพัฒนาบนแนวคิดที่มุ่งเน้นให้หุ่นยนต์ มีขนาดเล็ก เพื่อความสะดวกต่อการพกพาไปกับหน่วยดำเนินกลยุทธ์ ดังนั้น หุ่นยนต์รุ่นนี้จึงมีความคล่องตัวและ มีความทนทานสูง เนื่องจากผลิตด้วยวัสดุคอมโพสิตที่รองรับแรงกระแทกจากการตกจากที่สูงได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีคุณสมบัติและขีดความสามารถเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ แต่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า โดยที่มีระบบ การส่งกำลังบำรุงแบบครบวงจรทั้งหมดภายในประเทศ รวมถึงสามารถนำไปต่อยอดสู่การผลิตในขั้นอุตสาหกรรมได้ ซึ่งโครงการนี้เป็นการดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ สทป.
การสร้างความเชื่อมั่นและยืนยันศักยภาพด้วยมาตรฐานและการทดสอบหุ่นยนต์ ของ สทป.
1 สทป. มีส่วนงานควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการทดสอบมาตรฐานซึ่งเทียบเคียงกับต่างประเทศเพื่อยืนยันคุณภาพและความปลอดภัยก่อนการนำไปใช้งาน ควบคุมคุณภาพชิ้นส่วนย่อยที่สร้างขึ้นโดยผู้ผลิต/ผู้รับจ้างจากภายนอก รวมไปถึงการทดสอบและการตรวจตามขอบข่ายหน่วยตรวจตามมาตรฐาน ISO/IEC 17020 (มาตรฐานข้อกำหนดสำหรับหน่วยตรวจ) ตัดสินผลการตรวจสอบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดและรับรองผลในรายการชิ้นส่วนอุปกรณ์ต้นแบบยุทโธปกรณ์และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศโดยจัดทำรายงานผลการตรวจ หรือใบรับรองผลการตรวจให้แก่หน่วยงานภายในและภายนอก ตามที่ได้รับการรับรอง
2. สทป. มีสนามทดสอบหุ่นยนต์เพื่อทดสอบสมรรถนะของหุ่นยนต์ ที่สร้างขึ้นตามมาตรฐาน American Society for Testing and Materials หรือ ASTM International ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำหนดและจัดทำมาตรฐาน ซึ่งได้รับการยอมรับทั่วโลก โดยสนามทดสอบยานภาคพื้นไร้คนขับ จำลองลักษณะพื้นที่การปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ที่จำกัดและมีสภาพพื้นผิวที่จำลองให้ใกล้เคียงกับพื้นคอนกรีตที่มีฝุ่นปกคลุม โดยสามารถทำการทดสอบเพื่อประเมินสมรรถนะการเคลื่อนที่ (Mobility Performance)
ได้แก่ 1) การเคลื่อนที่ผ่านภูมิประเทศ 2) การเคลื่อนที่ข้ามสิ่งกีดขวาง และ 3) การทดสอบเพื่อประเมินผู้ควบคุมกับยานภาคพื้นไร้คนขับ โดยสนามทดสอบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ทดสอบยานภาคพื้นไร้คนขับ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้นโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องมาตรฐานการทดสอบ เพื่อเป็นการยืนยันและรับประกันถึงคุณภาพและสมรรถนะของผลงานวิจัยด้านหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดของ สทป. สร้างความมั่นใจและความไว้วางใจให้กับหน่วยผู้ใช้ ในการนำหุ่นยนต์ไปปฏิบัติภารกิจอย่างเป็นรูปธรรมได้ทุกภารกิจ
3. การทดสอบและประเมินผลหุ่นยนต์ตรวจการณ์โดยหน่วยผู้ใช้ เพื่อทำการทดสอบและประเมินผลหุ่นยนต์ตรวจการณ์ขนาดเล็ก โดยมีหน่วยผู้ใช้งาน 12 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานภายใต้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, กรมสรรพาวุธของเหล่าทัพ, กลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิดกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในการนี้หน่วยงานผู้ใช้ได้ร่วมทดสอบสมรรถนะการใช้งานหุ่นยนต์และรับทราบขีดความสามารถด้านการสนับสนุนการซ่อมบำรุง รวมถึงมาตรฐานการทดสอบ ทั้งนี้หน่วยผู้ใช้มีความต้องการนำหุ่นยนต์ไปประยุกต์ใช้งานตามภารกิจของแต่ละหน่วย และให้ความสนใจขีดความสามารถด้านการซ่อมบำรุงของ สทป.
ปัจจุบัน สทป. อยู่ระหว่างการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาปรับปรุงต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดให้มีสมรรถนะสูงเพียงพอสำหรับการใช้งานในภารกิจตรวจการณ์เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดของหน่วยงานในประเทศ เน้นภารกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสำคัญ โดย สทป. ยังคงต้องวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่เป็นโครงการเดิมควบคู่ไปกับการดำเนินการโครงการใหม่ภายใต้พระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 ในลักษณะของการบูรณาการและเป็นเทคโนโลยี 2 ทางที่ใช้งานได้ทั้งทหารและพลเรือน งานในโครงการใดที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้จะนำมาพิจารณาดำเนินการ โดยเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่นอกจากจะทำให้กองทัพไทยพึ่งพาตนเองได้แล้ว ยังเป็นอุตสาหกรรมที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่ประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย