“ในหลวง” ทรงรับ “ตำรวจ-ปชช.-นักข่าว”ได้รับบาดเจ็บเหตุสลายม็อบ “20 มีนา” เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ด้าน“บิ๊กตู่” ฉุนทวิตเตอร์คุกคามลูกสาว ลั่นครอบครัวไม่เคยทำให้ใครเดือดร้อน แย้มโฉมหน้า ครม.ใหม่ได้เร็วๆ นี้ ระบุทำงานไม่ดีก็ปรับใหม่ ขอวันนี้สงบก่อน “ศรีสุวรรณ” ร้อง ป.ป.ช.สอบ 208 ส.ส.-ส.ว. ฝ่าฝืนคำวินิจฉัยศาล รธน.หรือไม่ “อนุทิน” ยันเจตนารมณ์ภท.ลุยแก้รธน.เหมือนเดิม ย้ำไม่มีแรงกดดันถอนตัวพรรคร่วมฯ “ชวน”ยันเปิดประชุมวิสามัญ 7-8 เม.ย.นี้ เดินหน้าถกพ.ร.บ.ประชามติต่อ แนะ“ส.ส.”ลงมติแก้รธน.วาระ3 ยันทุกอย่างยึดกฎหมาย-ข้อบังคับ
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 22มี.ค.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า “เร็วๆนี้ กำลังจะทำขึ้นไป อย่าให้เป็นเรื่อง ทุกเรื่องเลย มันเป็นเรื่องของการทำงาน ถ้าไม่ดีก็ปรับใหม่ วันหน้าอะไรจะเกิดขึ้นก็ยังไม่รู้ ทำให้มันสงบก่อนแล้วกัน”
ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยกรณีกลุ่ม ส.ส. และส.ว.จำนวน 208 คน ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระสาม ทั้งๆที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ว่าหากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมของรัฐสภากลับมีการลงมติต่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีเสียงเห็นชอบให้แก้ไข 208 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง 94 เสียง ไม่ประสงค์ลงคะแนน 136 เสียง ซึ่งผู้ที่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สามดังกล่าว น่าจะขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ลงวันที่ 11 มี.ค.64 ที่ระบุว่า “...การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงต้องอยู่ในเงื่อนไขที่มีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หมวด 15 เพียงบัญญัติให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติให้จัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ... หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป...”
ซึ่งคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นถือว่าเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ตาม ม.211 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น รัฐสภาจึงไม่อาจลงมติในวาระที่สามของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ได้ ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงนำความมาร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ไต่สวนและมีความเห็นว่าการกระทำของสมาชิกรัฐสภาที่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในวาะสามทั้ง ส.ส. 206 คน และส.ว. 2 คนนั้น เป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่ อย่างไร หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติฯ ขอให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยลงโทษ ตามครรลองของกฎหมายต่อไป นอกจากนั้น มีสมาชิกรัฐ สภาที่เป็นพรรคการเมืองอีกไม่น้อยกว่า 8 พรรคการเมือง ที่ให้ความเห็นชอบในวาระสามดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตาม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ม.92(2)มีโทษถึงขั้นอาจถูกยุบพรรคได้ จึงขอให้ป.ป.ช.พิจาร ณาไต่สวนและมีความเห็นในเรื่องดังกล่าวด้วย
ส่วน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงจุดยืนของพรรคภูมิใจไทยในการแก้ ไขรัฐธรรมนูญหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ทำประชามติ ว่า พรรคภูมิใจไทยแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนไปแล้วว่าจะทำตามคำสั่ง ศาลรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ส่วนจะแก้ไขรายมาตรา ตามที่พรรคอื่นเสนอหรือไม่ ก็ต้องยึดตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่เจตนารมณ์เรื่องการแก้ไขธรรมนูญยังเหมือนเดิม แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกระบวนการ ยืนยันว่าพรรคภูมิใจไทยไม่มีปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้พูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ ในการเดินหน้าร่วมกันในการแก้ไขรายมาตรา ก็ต้องว่ากันไป เพราะในเรื่องของวิธีการหรือเหตุผล มีสมาชิกที่ดูแลเรื่องนี้อยู่
“ส่วนได้มีการพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา หรือไม่นั้น อะไรหารือกันเป็นประโยชน์กันได้ก็หารือกันไป อย่าผิดกฎหมาย อย่าผิดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไดโนเสาร์ ยืนยันว่าที่พูดถึงเรื่องไดโน เสาร์ไม่ได้พูดถึงส.ว.และไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคล และไดโนเสาร์คือสิ่งที่เราไม่ชอบในเรื่องที่มาของนายกฯในบท เฉพาะกาลเท่านั้น แต่ไดโนเสาร์คือคนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างพวกผม ถึงแม้มีบทเฉพาะกาลให้ส.ว.เลือกนายกฯก็ตาม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มาเป็นนายกฯ เพราะเสียงของส.ส.253 เสียง ไม่ได้มาเพราะเสียงของส.ว.เป็นหลัก”
นายอนุทิน ยังปฏิเสธอีกว่า ไม่ได้มีแรงกดดันให้ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล และไม่ได้รู้สึกอะไรเลย เพราะ ตนทำตามหน้าที่แล้วทำตามกฏหมาย ทำตามในสิ่งที่ควรจะเป็นในสิ่งที่ควรจะเป็น
ด้าน นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา เปิดเผยว่า กมธ.ได้นัดประชุม วันที่ 1- 2 เม.ย. เพื่อพิจารณาเนื้อหาตามที่มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กฤษฎีกาพิจารณา ปรับเนื้อหาตามที่รัฐสภาเห็นชอบให้ปรับแก้ไขมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ตาม กมธ. เสียงข้างน้อย ที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล แกนนำพรรคเพื่อไทย เสนอให้ปรับแก้ไขเนื้อหา ให้เพิ่มเติมสิทธิ์ของประชาชน และรัฐสภา เพื่อขอทำประชามติได้
“ผมมองว่าร่างกฎหมายประชามติ เป็นชนวนระเบิดของรัฐบาล เช่นเดียวกับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่าง ไรก็ดีผมตอบไม่ได้ว่าเนื้อหาของการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประชามติ เพื่อถ่วงดุลสิทธิของรัฐสภา และประชาชน จะเป็นอย่างไร เพราะต้องรอพิจารณาวันที่ 1-2 เม.ย.ที่กมธ.นัดประชุมอีกครั้ง ทั้งนี้กมธ.ฯมีสิทธิปรับปรุง เห็นด้วยและไม่ เห็นด้วย ก่อนที่เสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาในวาระสองต่อไป” นายวันชัย กล่าว.
ขณะที่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ ว่า มีความเป็นไปได้ เท่าที่พูดคุยกับหลายฝ่ายและหารือกับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้าน และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่คณะกรรมการธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... จะพิจารณาเรื่องที่ค้างอยู่ให้เสร็จ เพื่อบรรจุในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ดังนั้นคิดว่าวันที่ 7-8 เม.ย. ทางสมาชิกรัฐสภาเตรียมตัวเข้าร่วมประชุมได้
เมื่อถามว่า การเปิดประชุมครั้งนี้จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติเสร็จสิ้นเลยหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า น่าจะเสร็จแล้ว วันแรกก็คงจะพิจารณาแล้วเสร็จ ส่วนวันที่สองก็จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดต่อ ซึ่งมีเนื้อหายาว แต่ผู้ที่เข้าร่วมแปรญัตติมีไม่มาก และมีการแก้ไขไม่กี่มาตรา คิดว่าไม่น่าจะช้ามาก ทั้งหมดน่าจะจบช่วงเปิดประชุมสมัยวิสามัญ
เมื่อถามว่า ขณะนี้เริ่มมีพรรคการเมืองติดต่อเข้ามาเพื่อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราหรือยัง นายชวน กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีใครเสนอเข้ามา ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะกำลังคิดกันอยู่ แต่ต้องรอเปิดประชุมสมัยวิสามัญก่อน
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการยุบสภา จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ต้องไปถามรัฐบาล แต่ฝ่ายสภาฯยังไม่มีความเห็นเรื่องนี้
เมื่อถามถึงกรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว. ยื่นเรื่องร้องส.ส.ที่โหวตลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 นายชวน กล่าวว่า ก็ว่าไปตามกระบวนการของกฎหมาย เขาร้องใครผู้นั้นก็ต้องไปเตรียมตัวชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เพราะเป็นการเสนอของสมาชิกรัฐสภา เมื่อสมาชิกเห็นชอบให้ลงมติ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ลงมติในขณะที่กำลังพิจารณาค้างอยู่ว่าจะลงมติหรือไม่ลงมติ และได้เสนอญัตติขึ้นมาใหม่ เพื่อลงญัตติเดิม โดยที่ประชุมมีมติให้ลงมติ ดังนั้นการลงมติทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายและข้อบังคับ เมื่อถามว่า แสดงว่าจะผิดตั้งแต่ที่ นายไพบูลย์ เสนอญัตติ นายชวน กล่าวว่า “อันนี้ไปดูเอาเองแล้วกัน”
นายชวนยังกล่าวถึงกรณีที่ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษา ออกระบุว่า ส.ส.ที่เข้าร่วมการชุมนุม เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ผิดกฎหมายและประมวลจริยธรรมส.ส.ว่า เรื่องนี้ตนไปวินิจฉัยแทนไม่ได้ ซึ่งความผิดพวกนี้อยู่ที่เจตนาด้วย ต้องรอดูว่าจะมีผู้ร้องหรือไม่ แต่คาดว่าจะมีผู้ร้องเรียนเข้ามา ส่วนผลจะเป็นอย่างไ รก็ต้องรอ ตนไม่อาจวินิจฉัยแทนได้ โดยต้องมีผู้ร้องเข้ามาถึงจะตรวจสอบได้ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ รับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุม ที่บริเวณท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข้าราชการตำรวจ 50 นาย ในจำนวนนี้ 1 นาย กะโหลกแตก รวมถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ถูกลูกหลง ตลอดจนผู้สื่อข่าวที่ได้รับบาดเจ็บไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ทุกคน นำความปราบปลื้มมาสู่ข้าราชตำรวจ และคนไข้อย่างหาที่สุดไม่ได้
“พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหมได้กำชับให้ดูแลคนเจ็บทุกรายและยังกำชับให้การปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นไปตามยุทธวิธี อีกทั้งได้แสดงความเสียใจกรณี มีผู้สื่อข่าวช่อง 8 ได้รับบาดเจ็บถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่บริเวณศีรษะ จากการปฎิบัติหน้าที่ควบคุมผู้ชุมนุมบริเวณแยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน แต่ยังยืนยันว่าการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจเป็นไปตามยุทธวิธีหลักสากล มีการประกาศแจ้งเตือนให้ทราบเป็นระยะ แต่จังหวะที่ยิงเป็นช่วงที่ผู้สื่อข่าวก้มลงทำให้กระสุนยางพลาดไปโดนศีรษะ ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล”
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า ในวันดังกล่าวมีการจับกุมผู้ชุมนุมได้รวม 20 ราย ส่งพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดำเนินคดี มีการฝากขังตามขั้นตอนกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ส่วนชายสวมเสื้อลายสก๊อตที่ปรากฎภาพใช้วัตถุระเบิด ขณะนี้ตำรวจรู้ตัวแล้วโดยมีอาชีพเป็น รปภ.และเข้าร่วมการชุมนุมบ่อยครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามตัว ส่วนการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่นั้นมีการทบทวนยุทธวิธีการปฎิบัติอยู่ตลอดอยู่แล้ว และจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่มีผู้สื่อข่าวบาดเจ็บ ในอนาคตอาจจะมีการพิจารณาจัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การชุมนุมว่า “วันนี้ตนได้ให้เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพครอบคลุมพื้นที่ไว้ด้วย ซึ่งเป็นห่วงสื่อมวลชนที่อยู่ใกล้ในพื้นที่ชุมนุมมากๆ เวลามีการปฏิบัติอะไรย่อมได้ผลกระทบบ้าง อาจเกิดอันตราย ซึ่งตนมีความเป็นห่วง ขณะเดียวกันตนได้สอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว เขายืนยันว่ากรณีที่มีการใช้อาวุธปืนกำลังติดตามสอบถามจากกล้องทั้งหมดอยู่ แต่เขายืนยันว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่แน่นอน มีการทำร้ายกันของประชาชนกลุ่มหนึ่ง และพวกนี้ผ่านไปก็ไปช่วยเขา ปรากฏว่าก็มีการใช้อาวุธออกมา ตรงนั้นคือสิ่งที่ตนเป็นห่วง ส่วนเจ้าหน้าที่ตนได้ย้ำเสมอว่าต้องระมัดระวังที่สุด ใครได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติของเราก็ต้องไปดูแลรักษาพยาบาลอะไรก็ว่าไป เราต้องดูทั้งสองมิติ”
เมื่อถามว่า มีการกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เวลาปฏิบัติการสลายชุมนุมจะมีการแยกแยะเรื่องสื่อด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ได้กำชับไปแล้ว จะแยกแยะอย่างไรก็ขอกรุณาสื่ออ