เมื่อวันที่ 19 มี.ค.นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง คดีบุกรุกป่าเขาแพงศาลฎีกา “ยกคำพิพากษา” หรือ “ยกฟ้อง” มีเนื้อหาระบุว่า เมื่อวานนี้(วันที่ 18 มีนาคม 2564 )ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีบุกรุกป่าเขาแพงที่มีนายแทน เทือกสุบรรณ บุตรชายนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นจำเลยที่ 4 ซึ่งได้รับความสนใจจากทุกฝ่าย โดยศาลฎีกา “พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี” แต่ยังมีหลายคนรวมทั้งสื่อหลายสำนักยังไม่เข้าใจคำว่า”ยกคำพิพากษา”กับ “ยกฟ้อง”มีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งทั้งสองคำเป็นศัพท์เฉพาะทางกฎหมายที่บัญญัติว่าในการทำคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาบทสรุปสุดท้ายในคำพิพากษาต้องมีข้อความว่า “ยืน” “ยก” “แก้”หรือ “กลับ”คำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ ตามวิ.อาญามาตรา 214
นายเชาว์ ระบุด้วยว่า คำว่า “ยืน” หมายถึง ศาลสูงพิพากษายืนตามศาลล่างให้ "ลงโทษ" จำเลย คำว่า “ยก”หมายถึง “ยกฟ้องโจทก์ หรือ “ยกคำพิพากษา” คำว่า “แก้” หมายถึง แก้ไขคำพิพากษาศาลล่างมีทั้งแก้มาก แก้น้อย เกี่ยวกับบทกฎหมายและโทษ คำว่า “กลับ” หมายถึง ศาลสูงกลับคำพิพากษาศาลล่างจากยกฟ้องเป็นลงโทษ หรือจากลงโทษเป็นยกฟ้อง ดังนั้นคำว่า "ยก" จึงต้องพิจารณาให้ดีว่า”ยกฟ้อง”หรือ”ยกคำพิพากษา” สำหรับคดีที่กล่าวถึงศาลฎีกามิได้“ยกฟ้อง” แต่”ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์” เพราะคำพิพากษาไม่ชอบหรือไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ให้ถูกต้องตามรูปคดี
"เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาอย่างนี้ก็ต้องส่งสำนวนกลับไปยังศาลอุทธรณ์อีกครั้ง ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่าศาลอุทธรณ์จะพิจารณาและพิพากษาอย่างไร จะพิพากษา”ยืน” “ยก” “แก้” หรือ “กลับ”คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-4 จำคุกคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา หรือไม่อย่างไร แต่ที่แน่ๆศาลอุทธรณ์จะพิพากษานอกเหนือไปจากคำ 4 คำนี้ไม่ได้ครับ" นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย