ตั้งแต่รับรู้การอุบัติขึ้นของ ASF ในหมู โรคระบาดสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศจีน เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 วงการหมูของไทยก็แทบจะปรับรูปโฉมไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะกระบวนการเลี้ยงที่ปรับรูปแบบ จากเดิมที่ภาครัฐ โดยกรมปศุสัตว์ได้ผลักดันมาตรฐานการเลี้ยงหมูทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ก็ถูกยกระดับมาตรฐานเพิ่มขึ้น ASF จึงเหมือนตัวเร่งให้วงการหมูมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด และทำให้เกิดความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ของทุกคนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู ผ่านการระดมสรรพกำลัง ความเชี่ยวชาญ รวมถึงองค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงและการป้องกันโรคในหมู ของทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ สมาคมผู้เลี้ยง และเกษตรกรทั่วประเทศ ทำให้ไทยยังคงสถานะ “ประเทศปลอดโรค” จนถึงปัจจุบัน สามารถปกป้องผู้เลี้ยงทั่วประเทศทั้ง 187,993 ราย ไม่ให้เผชิญกับภาวะโรครุนแรงดังเช่นหลายประเทศรอบไทย ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสของประเทศไทยที่สามารถขยายตลาดส่งออกหมูมีชีวิตไปยังตลาดส่งออกสำคัญ ทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา ที่ล้วนได้รับผลกระทบจากโรคนี้ทั้งสิ้น ทำให้มีความต้องการหมูปลอดโรคจากไทยไปทดแทน ช่วยสร้างมูลค่าการส่งออกทั้งหมูมีชีวิต เนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ ได้มากกว่า 22,000 ล้านบาท ในปี 2563 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึ้ง 300% อย่างไรก็ตามการส่งออกหมูคิดเป็นเพียง 5% ของการผลิตรวมของประเทศเท่านั้น ส่วนอีก 95% เป็นส่วนที่ทุกฝ่ายร่วมกันบริหารจัดการ ไว้เพื่อคนไทยทุกคนได้มีเนื้อหมูบริโภคอย่างเพียงพอ แม้ไทยจะยังไม่ถูกโรคนี้รุกราน ทำให้คนไทยไม่ต้องขาดแคลนเนื้อหมูบริโภคอย่างหลายประเทศ แต่คนในวงการหมูทั้งหมดการ์ดยังดีไม่มีตก การป้องกันโรคนี้และโรคอื่นๆในหมูยังคงเข้มแข็งและต่อเนื่อง ภาครัฐประกาศเฝ้าระวังทั้งการเคลื่อนย้ายหมูไปยังต่างประเทศ และในประเทศต้องตรวจเข้มการเคลื่อนย้ายหมูข้ามเขต ต้องมีใบรับรองการตรวจโรคชัดเจน และตั้งด่านตรวจทั่วประเทศ ขณะเดียวกันหลายจังหวัดโดยเฉพาะที่มีอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ต่างยกระดับเป็นพื้นที่เฝ้าระวังโรค ASF อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในวิกฤตโควิดเช่นนี้ การเฝ้าระวังและป้องกันยิ่งต้องหนาแน่นขึ้นทั้งโรคคนและโรคสัตว์ ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ปรับปรุงมาตรฐานฟาร์มหมู เพื่อส่งเสริมให้ทุกฟาร์มมีระบบป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่สำคัญ และสอดคล้องกับแผนการเฝ้าระวังและมาตรการป้องกันควบคุมโรค ASF ของกรมปศุสัตว์ โดยเฉพาะการผลักดันมาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับฟาร์มหมูขนาดเล็ก ด้วยการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร (Good Agricultural Practices : GAP) และฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) ซึ่งไม่เพียงช่วยยกระดับมาตรฐานฟาร์มเท่านั้น ยังช่วยส่งเสริมความปลอดภัยอาหารของสินค้าหมูและผลิตภัณฑ์ จากการลดปัญหายาสัตว์ตกค้าง ส่งเสริมสุขอนามัยในการเลี้ยงสัตว์ที่ดี นอกจากจะป้องกันและควบคุมโรคที่สำคัญในหมูแล้ว ยังเป็นการสร้างอาหารปลอดภัยสำหรับการบริโภคด้วย ล่าสุดกรมปศุสัตว์เตรียมผลักดันหลักเกณฑ์ “ระบบคอมพาร์ทเมนต์ปลอดโรค หรือ ASF Compartment” เพื่อกำหนดมาตรการการเลี้ยงหมูของไทยในอนาคต ตามระเบียบที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE ออกมาเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศนำไปปฏิบัติ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของวงการหมูไทย หากร่างหลักเกณฑ์และระเบียบนี้ผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานด้านวิชาการ ที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชน ตัวแทนผู้ประกอบการฟาร์ม เพื่อนำเสนออธิบดีกรมปศุสัตว์อนุมัติ คาดว่าระเบียบดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ก่อนการจัดประชุมคณะทำงานในช่วงต้นเดือนเมษายน และจะมีการประกาศใช้ภายในต้นเดือนพฤษภาคม ขณะเดียวกันปศุสัตว์ในพื้นที่ต่างๆ ได้นำเสนอเรื่องนี้แก่ฟาร์มที่มีศักยภาพที่จะเป็นฟาร์มนำร่องเดินหน้าระบบ ที่เน้นหนักที่การตรวจประเมินฟาร์ม และการจัดทำระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) รวมถึงการประเมินความเสี่ยงและแผนความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ที่จะช่วยชี้จุดอ่อนของฟาร์ม เพื่อปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าหาก ASF Compartment คิกออฟได้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงหมู และการป้องกันโรคในระดับสูง ไม่เพียง ASF แต่ยังรวมถึงโรคอื่นๆ ถือเป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่ภาครัฐมีมาตรการเฝ้าระวังที่รัดกุม และได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนในซัพพลายเชนการเลี้ยงหมูที่ดำเนินการป้องกันอย่างเข้มแข็ง ทำให้ยังคงสถานะปลอดโรค ปลอดสาร สร้างความปลอดภัยในอาหารสู่ผู้บริโภค โดย : ปฏิภาณ กิจสุนทร นักวิชาการอิสระ : [email protected]