“ศักดิ์สยาม”มอบ“ชัชวาลล์”รับเรื่องร้องเรียนชาวบ้านบางลำพู กรณี"รฟม."เวนคืนที่ดินสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงช่วง"เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ-แยกบางลำพู" ระบุประชาชนกว่า 300 ชีวิต เดือนร้อนไร้ที่ทำกินและที่อยู่อาศัย “รมว.คมนาคม”พร้อมหาทางออกบรรเทาทุกข์ชาวบ้าน
ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 มี.ค.64 ได้มีตัวแทนกลุ่มชาวบ้านประมาณ 30 คน ซึ่งมีที่พักอาศัยอยู่บริเวณแยกบางลำพู ถนนพระสุเมรุ แขวงตลาดยอด เขตบางลำพู กรุงเทพฯ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอความช่วยเหลือเนื่องจากกลัวว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเวนคืนที่ดินสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงช่วง"เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ-แยกบางลำพู"จะทำให้มีประชาชนกว่า 300 ชีวิต และบ้านเรือนประชาชนประมาณ 40-50 หลังคาเรือน ต้องเดือนร้อนไร้ที่พักอาศัยและที่ทำกิน โดยมี นายชัชวาลล์ คงอุดม ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท เป็นตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับหนังสือร้องเรียน
โดย ดร.พีรวัฒน์ สุรเศรษฐ อยู่บ้านเลขที่ 177-179 ถนนพระสุเมรุ แขวงตลาดยอด เขตบางลำพู กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวบ้าน เปิดเผยว่า เนื่องจากว่าบริเวณแยกบางลำพูจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงเป็นทางโค้งเรียกว่าโค้งแยกบางลำพู ซึ่งจะมีชาวบ้านประมาณ 40-50 หลังคาเรือน ได้รับผลกระทบ อาจจะต้องมีการรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้าง จึงได้รวมตัวกันเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนถึง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอความอนุเคราะห์และช่วยเหลือชาวบ้านอย่าได้มีการรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้าง หากมีการรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้ประชาชนกว่า 300 ชีวิต จะต้องเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยและการทำมาหากิน
ดร.พีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง รฟม. ได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) 2562 (อ้างถึง 1) และมีหนังสือแจ้งกำหนดวันเข้าสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่ในเขตที่ดินตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2563 ในระหว่างวันที่ 4-5 มีนาคม 2564 (อ้างถึง 2) ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
"พวกเราซึ่งเป็นเจ้าของ หรือผู้ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบริเวณแยกโค้งบางลำพู ใคร่ขอความอนุเคราะห์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้โปรดพิจารณาสั่งการ รฟม. ดำเนินการให้เป็นไปตามสิ่งที่ปรากฏตามเอกสารรายงานการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) บทที่ 5 หน้า 5-116 ที่ระบุว่าไว้อย่างชัดเจนว่า ในพื้นที่บริเวณโค้งบางลำพูจะเป็นพื้นที่ที่ดินที่ถูกรอนสิทธิ์โดยไม่มีความจำเป็นต้องมีการเวนคืนรื้อถอนและเจ้าของพื้นที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ และจากข้อสรุปรายละเอียดการร้องเรียนและการดำเนินการแก้ไขตามปรากฏในตารางที่ 10.8-1 ได้รับคำยืนยันว่า ในบริเวณดังกล่าวอยู่ในแนวสายทางจำเป็นต้องทำการรอนสิทธิ์และผู้ร้องสามารถอยู่อาศัยได้ตามปกติ"
ดร.พีรวัฒน์ กล่าวด้วยว่า จากการประชุมร่วมกับวิศวกรที่ปรึกษาสายสีม่วงใต้และคณะเจ้าหน้าที่ของ รฟม. เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2564 ท่านมาได้ข้อสรุปในเบื้องต้น ว่า รฟม.อาจจะสามารถปรับเพิ่มการกดความลึกของอุโมงค์ได้อีก โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว
"ในเรื่องนี้ชาวบ้านย่านแยกโค้งบางลำพู จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอได้โปรดพิจารณาให้ความอนุเคราะห์และเห็นใจประชาชนย่านแยกโค้งบางลำพูจำนวน 40-50 ครัวเรือน ให้สามารถอยู่อาศัย ประกอบสัมมาอาชีพ และใช้ชีวิตอยู่ได้เป็นปกติสุข โดยแต่ละครอบครัวใช้ชีวิตเป็นมรดกตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคนมานานนับเกือบ 100 ปี อันจะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในครั้งนี้" ดร.พีรวัฒน์ กล่าว
ขณะที่ นายชัชวาลล์ คงอุดม ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท กล่าวว่า เบื้องต้นท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบเรื่องแล้วและได้มอบหมายให้ผมเป็นตัวแทนมารับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ซึ่งท่านจะหาทางออกและแก้ไขให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด