จากกรณีที่มีประชุมรัฐสภาในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อหาทางออกในการพิจารณาลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวาระสาม หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมรูญจำเป็นต้องให้ประชาชนลงมติเสียก่อน และได้มีการเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายเพื่อหาทางออก จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีข้อยุติ ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก Peace News เผยแพร่ข้อความลงวันที่ 17 มี.ค. 2564 ที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เฟชบุ๊คไลฟ์ peace talk กล่าวถึงการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติวาระ 3 ว่า... ถึงที่สุดแล้วพวกทฤษฎีสมคบคิดต้องมาถึงทางตัน พร้อมเผยโฉมให้เห็นความหลอกลวง ไม่มีความจริงใจในการแก้ รธน. จนทำให้บ้านเมืองยากต่อการมีทางออกได้ ดังนั้นที่สุดแล้ว สถานการณ์ขณะนี้สะท้อนว่า "อย่างไรก็พัง" “ผมเคยวิเคราะห์หลายหน และแล้วการเดินทางก็มาถึงจุดสมบูรณ์ของพวกทฤษฎีสมคบคิด ที่สะท้อนถึงการจัดแบ่งงานกันทำ ซึ่งผมขอใช้คำพูดแรงๆว่า คนเหล่านี้คือ พวกโกหก หลอกลวง ปลิ้นปล้อน ตลบตะแลง” นายจตุพร กล่าวว่า ขอทบทวนเหตุการณ์ รธน.อีกครั้ง ก่อนหน้านายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะมารับหน้าที่ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยกร่าง รธน.นั้น มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 เมื่อร่างเสร็จ ไม่ได้นำไปทำประชามติ แต่ถูก สนช.ล้มกลางสภา จนต้องพูดว่า เขาอยากอยู่ยาว จากนั้นของเอานายมีชัย เนติบริกรตัวพ่อ ที่เคยเขียน รธน.มาหลายฉบับ มาร่าง รธน.ฉบับสุดท้ายของชีวิตเพื่อให้คนร่ำลือ จนนำไปทำประชามติมัดมือชก เพราะรณรงณ์ด้านเดียวและชนะภายใต้รัฐบาล คสช.ข่มขู่ฝ่ายต่อต้าน จนเกิด รธน. 2560 ที่พูดตามภาษาชาวบ้านว่า โครตแก้ยาก ตนจึงบอกว่า ไม่ได้ออกแบบมาแก้ไขได้ แต่ต้องการให้ฉีกทิ้งเท่านั้น “เมื่อเดินมาถึงจุดความยากลำบาก จึงเห็นธาตุแท้ผู้มีอำนาจว่า ไม่ต้องการแก้ไข รธน. ส่วนที่เขียนไว้ในนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล เพราะต้องการเอาพรรค ปชป. ที่ตระบัดสัตย์คำประกาศไม่ร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วต้องมาร่วมรัฐบาล โดยเอาการแก้ รธน.บังหน้า เพื่อขายผ้าเอาหน้ารอด” อีกทั้ง เมื่อมีการเรียกร้องให้แก้ รธน. มีการยื้อไว้อีกนาน กระทั่งเข้าสภาต้องแก้ไขในมาตรา 256 ให้เลือกตั้ง สสร.มาแก้ รธน. แต่ออกลายเสนอตั้งกรรมาธิการศึกษาการลงมติว่า จะโหวตอย่างไร จนปิดสมัยประชุม ทั้งญัตติแก้ รธน.มี 2 ญัตติของฝ่ายค้านกับรัฐบาล ที่เห็นตรงกันให้แก้มาตรา 256 ตั้ง สสร. มาแก้ไข ถัดจากนั้น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐกับ ส.ว. ซึ่งเคยเป็นกลุ่ม 40 ส.ว.มาก่อน จับมือกันยื่นศาล รธน. แล้วเดินมาถึงจุดนี้ เมื่อศาล รธน.วินิจฉัยไม่ชัดเจน เหมือนปี 2555 จนตนยื่นถามอีกครั้งว่า ลงมติวาระ 3 ได้หรือไม่ รวมทั้งตนเรียกร้องให้โหวตวาระ 3 จนเกิดทะเลาะกันวุ่นไปหมด สถานการณ์วันนั้นเหมือนวันนี้ในสภาไม่ผิดเพี้ยน เพราะฝ่ายค้านให้โหวต ส่วน ส.ว.ต้องการให้เป็นโมฆะ แต่ ปชป.ให้ถามศาล รธน.ว่า ลงมติวาระ 3 ได้หรือไม่ เหมือนที่ตนเคยถามมาแล้ว นายจตุพร กล่าวว่า การแก้ รธน. มาตรา 256 เว้นหมวด 1-2 ก็เป็นการแก้ไข ไม่ใช่ให้เขียนใหม่หรือร่างใหม่ ถ้าให้นำไปทำประชามติก็หมดเงินเป็นหมื่นล้าน ขณะที่บ้านเมืองทรุดต่ำด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น วันนี้ต้องการประนีประนอมกัน จึงเสนอให้โหวตวาระ 3 แม้ไม่ผ่าน เพราะไม่ได้เสียง ส.ว. 84 เสียง ซึ่งยังดีกว่า เพราะจะล้มไปก็ล้มไป แล้วไปประชามติถามประชาชนว่าแก้ไข รธน.ได้หรือไม่ “ไม่ว่า สภาตัดสินใจอย่างไร ก็รู้เช่นเห็นชาติกันหมด การหลอกกันก็ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมจึงเห็นด้วยให้แต่ละฝ่ายร่วมคิดหาทางออกกัน โดยจะฝากความหวังให้รัฐบาล และสภาเป็นทางออกไม่ได้ ท้ายสุด ประชาชนก็กลายเป็นเครื่องมืออีก” อีกอย่าง สถานการณ์ขณะนี้ เรื่องแก้ รธน.นั้น นายกรัฐมนตรี ลุกอ่านแถลงนโยบายในรัฐสภา ถ้าชี้แจงว่า เป็นเรื่องของสภา แต่นั่นเป็นนโยบายของรัฐบาล ถ้าไม่รับผิดชอบ แล้วไปแถลงทำไมว่า จะแก้ รธน.เป็นการเร่งด่วน “การเสนอแก้รธน.ตามช่องมาตรา 256 โดย พปชร. ได้เสนอขอแก้เช่นกัน แล้วจะมาบอกว่า เป็นการแก้ทั้งฉบับที่ไหนกัน เมื่อเกิดปัญหาจาก พปชร.ที่หนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ดังนั้น คนเป็นนายกฯ ต้องแสดงจุดยืนและความรับผิดชอบ ให้ลงมติผ่านวาระ 3 แล้วชะลอไว้ก่อนเพื่อทำประชามติถามประชาชน แต่คนเป็นนายกฯ ไม่มีสัญญาณสิ่งนี้เลย ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ในบ้านเมือง แล้วไปแถลงนโยบายเร่งด่วนจะแก้ รธน.ทำแมวทำไม” นายจตุพร กล่าวว่า พวก ส.ว.ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งมากับมือ ก็แค่มีไว้ขู่พรรคการเมืองเท่านั้น ถ้านายกฯ ไม่สามารถทำตามรับปากต่อสภาได้ก็ต้องลาออก และนายกฯ ไม่มีทางเลือกในหนทางนี้แล้ว จึงได้แต่ต้องเดินไปจนถึงสถานการณ์มีคนมาฉีก รธน. ทิ้งอีกตามเคย รวมทั้ง ขณะนี้บ้านเมืองไปไม่ได้ แค่ศาล รธน.ยังถามคนเขียน รธน. เพราะวินิจฉัยไม่ได้ แล้วพวกคนเขียน รธน.ก็ทำตัวเป็นเจ้าของ รธน. ซึ่งหลักการแบบนี้เป็นความย้อนแย้ง และวันนี้ตนไม่รู้สภามีมติอย่างไร แต่ประชาชนต้องคิดว่า จะปล่อยให้บ้านเมืองเดินต่อในสภาพแบบนี้อีกหรือ “ผมเชื่อว่า ถ้าเรามีความเห็นสอดคล้องกันเพื่อบ้านเมือง วางเรื่องของเราก่อน เพื่อถามว่าจะยอมให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้หรือ นี่ไงผลลัพธ์วันนี้ในสภาทำอะไรไม่ได้สักอย่าง ทั้งที่ต้องจบสักอย่าง แต่ผลเสียเกิดกับบ้านเมือง” ส่วนนายอานนท์ นำภา แกนนำราษฎร เขียนจดหมายร้องต่อศาลในกรณีคุกนั้น นายจตุพร กล่าวว่า มีการถามตนมามากในฐานะคนคุก และผ่านมาแล้ว 4 ครั้ง ตนจึงเข้าใจธรรมชาติของคุก ถ้ามีปัญหากับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จะอยู่กันยากลำบาก แล้วลามไปถึงนักโทษคนอื่น อย่างไรก็ตาม คำขัวญในคุกคือ “อยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้” ดังนั้น ตนเห็นใจชะตากรรมของแกนนำราษฎร แต่สิ่งตนจะอธิบายคือ เรื่องทั้งหมดไม่น่าเกิดขึ้น ควรต้องคุยกันอย่างตรงไปตรงมา สามารถบริหารจัดการกันได้ เพราะเป็นเพียงผู้ต้องหาไม่ใช่นักโทษ “ธรรมชาติการติดคุก คือ คนข้างนอกห่วงคนข้างใน และข้างในก็ห่วงคนข้างนอก ในสถานการณ์สู้รบ คนข้างในคุกแม้ใจเป็นอิสรภาพแต่กายกลับถูกขึงขังจองจำไว้ และที่สุดเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้น ยังมีช่องว่างสร้างความเข้าใจกันได้ เพื่อปกป้องไม่ให้เรื่องลุกลามไปถึงนักโทษคนอื่น ยิ่งจะทำให้อยู่คุกยากลำบาก” อย่างไรก็ตาม ท่วงทำนองระหว่าง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กับผู้ถูกคุมขัง ต้องจัดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เรื่องราวต่างๆ คนคุกควรมองอย่างเข้าใจ ซึ่งการใช้ชีวิตยากลำบากมาก และบทเรียนนี้ใครจะรุกล้ำกันไม่ได้อีกต่อไป ราชทัณฑ์ก็มีบทเรียนในการทำกันอย่างไรที่ผ่านมาก็จะถูกสิทธิร้องเรียน ดังนั้น ควรต้องจัดความสัมพันธ์กันใหม่ “ผมเสนอตัดไฟแต่ต้นลม ราชทัณฑ์ต้องเร่งจัดความสัมพันธ์กับผู้ต้องหา เพราะถ้าอยู่ท่ามกลางความกดดันไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย และจะลุกลามถึงนักโทษคนอื่น ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับราษฎร”