BRR เปิดแผนธุรกิจปี 64 เดินหน้าสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจน้ำตาลพร้อมบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หวังเก็บเกี่ยวรายได้สูงสุดในจังหวะราคาตลาดโลกทำนิวไฮรอบ 4 ปี รับจังหวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวหนุนการบริโภคเพิ่ม พร้อมนำสิ่งเหลือจากการปลูกอ้อยและการผลิตน้ำตาลต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย เพื่อสร้าง New S Curve หนุนศักยภาพการเติบโตของบริษัทอย่างยั่งยืน นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจมากว่า 5 ทศวรรษ บริษัทได้ให้ความสำคัญด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘สร้างความมั่นคงด้านผลผลิตและสร้างชีวิตที่ดีให้แก่ชาวไร่อ้อย พัฒนาธุรกิจน้ำตาลทราย พลังงานทดแทนและธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับชุมชน สังคมและประเทศชาติ ด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย’ เพื่อสร้างความเป็นเลิศด้านการบริการจัดการควบคุมคุณภาพผลผลิตอ้อย ผลผลิตน้ำตาลทรายและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง รวมถึงสิ่งเหลือจากการปลูกอ้อยและการผลิตน้ำตาลที่มีมาตรฐานและประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้บริษัทมีนโยบายมุ่งส่งเสริมด้านองค์ความรู้การเพาะปลูกอ้อยให้แก่ชาวไร่ ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่และคุณภาพอ้อยเพื่อนำมาใช้ผลิตน้ำตาลพร้อมพัฒนาระบบบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตและพัฒนานวัตกรรมด้านการวิจัยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับองค์กรและชาวไร่ เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจหลัก จากการนำน้ำตาลทรายดิบไปทำรีไฟน์ (น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์) เพื่อจำหน่ายภายในประเทศที่สามารถสร้างกำไรต่อหน่วยที่ดีกว่าจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบเพียงอย่างเดียว ส่วนปีนี้ BRR มีแผนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง รองรับจังหวะราคาตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 16 เซนต์ต่อปอนด์สูงสุดในรอบ 4 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีกหลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้น สวนทางผลผลิตทั่วโลกลดลงจากปัญหาเอลนีโญ และประเทศผู้ส่งออกเบอร์ 1 อย่างประเทศบราซิล ได้เพิ่มสัดส่วนนำน้ำตาลไปผลิตเป็นเอทานอลมากขึ้นทำให้ซัพพลายในตลาดลดลง พร้อมกันนี้บริษัทยังได้เร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจจากการนำน้ำตาลทรายดิบไปทำเป็นน้ำตาลรีไฟน์ (น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์) ที่สร้างกำไรต่อหน่วยที่ดีกว่าซึ่ง ทำให้ BRR สามารถเก็บเกี่ยวรายได้สูงสุดจากธุรกิจน้ำตาล นอกจากนี้บริษัทยังนำสิ่งเหลือจากการปลูกอ้อยและจากกระบวนการผลิตน้ำตาลไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง ทำให้ BRR ได้ประโยชน์สูงสุดและลดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยนำชานอ้อยไปเผาเป็นเชื้อเพลิง ชีวมวลผลิตไฟฟ้าและนำไปทำบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ขณะที่กากหม้อกรองนำไปผลิตเป็นปุ๋ยเพื่อนำไปช่วยเหลือให้แก่ชาวไร่ เพื่อให้มีต้นทุนการเพาะปลูกที่ต่ำลงและปุ๋ยมีคุณสมบัติเหมาะสมกับสภาพดินแต่ละพื้นที่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRR กล่าวอีกว่า กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ที่ดำเนินการภายใต้ บริษัท ชูการ์เคนอีโคแวร์ จำกัด ถือเป็นธุรกิจ New S Curve มาต่อยอดสร้างความมั่นคงของรายได้จากการนำชานอ้อยไปทำบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อจำหน่ายผ่านค้าปลีกสมัยใหม่และร้านค้าส่ง ร้านอาหาร โรงแรมทั้งในและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น โดยมีกำลังการผลิต 300 ล้านชิ้นต่อปี ปัจจุบันได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ขณะที่กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลนั้นกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์อีก 1 โรงนั้น บริษัทให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามนโยบายภาครัฐ หรือโครงการ Quick Win จากปัจจุบันที่ BRR ได้จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟภ.รวม 16 เมกะวัตต์ ที่ดำเนินการภายใต้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (โดยโรงไฟฟ้าโรงที่ 1 สิ้นสุดสัญญา 10 สิงหาคม 2571 และโรงที่ 2 สัญญาสิ้นสุด 6 เมษายน 2578) “ปีนี้จะเป็นปีที่ดีของกลุ่มธุรกิจ BRR ทั้งกลุ่มธุรกิจหลักอย่างน้ำตาลที่มีแผนสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเก็บเกี่ยวรายได้ที่ดีจากช่วงราคาน้ำตาลขาขึ้น และนำสิ่งเหลือจากการปลูกอ้อยและการผลิตน้ำตาลไปสร้างธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ซึ่งถือเป็น New S-Curve ของเรา เข้ามาช่วยการขับเคลื่อนการเติบโตให้แก่บริษัทอย่างยั่งยืน” นายสมยศ ชั่งยงสุวรรณ ผู้อำนวยการสายงานบัญชีและการเงิน BRR กล่าวว่า ภาพรวมการผลิตน้ำตาลของกลุ่มรอบปีการผลิต 2563/64 นั้น คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 1.75 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 122 กิโลกรัมต่อตันอ้อย สูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 111 กิโลกรัมต่อตัน ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจน้ำตาลของ BRR พร้อมแผนสร้างมูลค่าให้แก่ธุรกิจน้ำตาลเพิ่มอัตราการทำกำไรต่อหน่วยที่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อภาพรวมการดำเนินธุรกิจของ BRR เติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ประเมินว่ามีแนวโน้มเติบโตที่ดีในระยะยาว หลังสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยบริษัทเร่งทำตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า โดยมองว่าธุรกิจดังกล่าว ทำให้ BRR ต่อยอดสร้างรายได้ที่ดีและช่วยบริหารความเสี่ยงจากการพึ่งพาการผลิตน้ำตาลเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ภาพรวมการดำเนินงานในปี 2563 บริษัททำกำไรสุทธิรวมได้ 6.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 511.77 ล้านบาท ถือเป็นการทำผลประกอบการเทิร์นอะราวนด์ อันเนื่องจากการบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 625 ล้านบาท แม้รายได้จากการขายและการบริการทำได้ 3,892 ล้านบาทก็ตาม