• กองกลาง สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) จัดโครงการฝึกอบรมให้ความรู้ เรื่องการป้องกันภัยและการอพยพหนีไฟ แก่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย หวังสร้างความรู้ความเข้าใจการป้องกันภัย ลดอัตราการเสี่ยง ตามมาตรฐานการบริหารจัดการและรองรับการบริการห้องประชุมระดับนานาชาติ โดยมี ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและจัดการทรัพย์สิน เป็นประธานกล่าวเปิด และมีนางศุภัจฉรีย์ นวกิจไพฑูรย์ ผู้อำนวยการกองกลาง กล่าวรายงาน พร้อมด้วยวิทยากรบริษัท Anitfire และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารหอสมุดและศูนย์สารสนเทศเฉลิมพระเกียรติ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและจัดการทรัพย์สิน เปิดเผยว่า ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เป็นสถานที่จัดงานประเทศไทย ประจำปี 2563 ประเภทห้องประชุมจำนวน 4 ห้อง ได้แก่ 1. ห้องราชพฤกษ์ 2 อาคารสำนักงานอธิการบดี 2. หอประชุมวชิราลงกรณ 3. ห้องประชุมรวงผึ้ง 2 อาคารคณะครุศาสตร์ และ 4. ห้องประชุม 1 อาคารหอสมุดและศูนย์สารสนเทศเฉลิมพระเกียรติ จึงมีความจำเป็นที่บุคลากรของมหาวิทยาลัยควรมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันอัคคีภัย หลักการอพยพหนีไฟ การใช้อุปกรณ์ดับเพลิงอย่างถูกต้อง เพื่อลดอัตราการเสี่ยงต่อการเกิดเหตุอัคคีภัย การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน บุคลากรสามารถแบ่งประเภทของเพลิง เข้าใจวิธีการดับเพลิง และระงับอัคคีภัยได้ • "เราทุกคนต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ปกป้องทรัพย์สินของทางราชการ ด้วยการปกป้อง ป้องกัน จากการเกิดเหตุไม่คาดคิดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของอัคคีภัยภายในองค์กร ที่สามารถช่วยกันรับผิดชอบโดยการระงับเหตุเบื้องต้นไม่ให้เกิดความรุนแรงและส่งผลร้ายแก่ชีวิต องค์กร และชุมชน" ด้าน ดร.พรทิพย์ วิมลทรง หัวหน้าสาขาการจัดการภัยพิบัติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรส. ได้กล่าวถึงความสำคัญของการรับมือกับการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ว่า องค์กรควรมีแนวทางการเตรียมความพร้อมมีแผนการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ แนวทางการระงับอัคคีภัย วิธีการอพยพคน ในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญด้านการจัดการการเกิดภาวะวิกฤต เพราะถ้าบุคลากรในองค์กรได้ทราบถึงแนวทางเหล่านี้ก็สามารถจัดการเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉินได้ จากการรู้และเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง เช่น หน้าที่ของผู้บัญชาการ ตลอดผู้ปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ ก็จะมีความเข้าใจของการจัดการให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เป็นไปตามขั้นตอนของการระงับเหตุ . สำหรับโครงการฝึกอบรมให้ความรู้ เรื่องการป้องกันภัยและการอพยพหนีไฟ มีหัวข้อฝึกอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ได้แก่ อบรมทฤษฎีหลักสูตรการดับเพลิงขั้นต้น ทฤษฎีการเกิดไฟไหม้ และการป้องกันแหล่งกำเนิดของการติดไฟ การแบ่งประเภทของเพลิง วิธีการดับเพลิงประเภทต่างๆ และชนิดของเครื่องมือดับเพลิง รู้จักอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลในการดับเพลิง มีจิตวิทยาเมื่อเกิดเพลิงไหม้แผนป้องกันและระงับอัคคีภัย นอกจากนี้ ได้รับการสนับสนุนนักศึกษาสาขาวิชาการจัดการภัยพิบัติ และสาขาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรส. ร่วมแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ แก่ผู้เข้าร่วมโครงการด้วย •