"โฆษกประชาชาติ" ระบุ "ส.ว.-ส.ส.ปัดเศษ" คือ หอกข้างแคร่ อุปสรรคพัฒนาระบอบประชาธิปไตย รับใช้เผด็จการ
วันที่ 16 มี.ค.64 นายสุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติ ระบุว่า ส.ส. ปัดเศษ และ ส.ว. บางส่วนเป็นของใกล้จะหมดอายุจึงต้องดิ้นรนและหาทางที่จะอยู่ยาวและนับวันประชาชนจะมองเห็นได้ชัดว่าตั้งหน้าตั้งตาและมุ่งมั่นรับใช้เผด็จการ ไม่มีความคิดเป็นตัวของตัวเองที่จะพัฒนาบ้านเมืองและทำตัวเหมือนนายว่าและ (ตัว) ข้าฯ จะดิ้นรน พร้อมหาทางออกที่มีตราประทับรับรอง รอกันมาหลายวันสำหรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อ่านดูแล้วจะมีสาระหลักๆ อยู่ที่หน้า 10-11 จึงขอให้ข้อสังเกตจากการที่ได้อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ดังนี้
1. หากจะมีการแก้ไขครั้งต่อไปต้องมิใช้คำว่า “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เช่น ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมวด 15/1 ที่เป็นปัญหาอยู่ปัจจุบัน โดยให้ใช้คำว่า “แก้ไขมาตรา.... ถึงมาตรา ...และมาตรา .... ถึงมาตรา .....” เป็นต้น และ ห้ามใช้คำว่า “แก้ไขหมวด....” เพราะจะมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความอีกว่า แก้ไขหมวด ไม่ใช่เป็นการแก้ไขรายมาตรา
2. กำหนดวัตถุประสงค์ของการแก้ไขว่า 'เพื่อปกป้องความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และรักษาความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญ ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน'
3. ศาลได้รับรองอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าเป็นอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 156 (15) ประกอบมาตรา 256 แต่ต้องไม่ใช่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับ "
นายสุพจน์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ คงถกเถียงกันอีกยาว เมื่อเป็นดังนี้ จึงควรปล่อยให้รัฐสภาซึ่งเป็นกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้ โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดประเด็นว่า เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวไว้
" จะว่าไปแล้วในระบบการปกครองแบบรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ถือเป็นผู้ที่ได้รับฉันทานุมัติมาจากประชาชนโดยตรงให้เข้ามาใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 3 เสาหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในการตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิหรือคุ้มครองสิทธิของประชาชน และถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ให้เกิดการคานและดุลอำนาจกัน จากแนวคิดนี้จะมีแดนหรือขอบเขตในการใช้อำนาจของแต่ละฝ่ายอยู่ ที่สำคัญจะต้องรักษามรรยาท ไม่ใช้อำนาจของฝ่ายตนไปล่วงล้ำ ก้าวก่ายการใช้อำนาจของอีกฝ่ายหนึ่งโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เสียสมดุลของ 3 เสาหลักไป"
นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า ประการสำคัญหากอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนจริง ก็ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือ ว่าแท้จริงแล้วอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของคณะรัฐประหาร ที่เป็นผู้อนุญาตให้มีรัฐธรรมนูญโดยใช้ประชามติของประชาชนเป็นกระบวนการในการสร้างความชอบธรรม ถึงได้มีความพยามยามที่จะหวง หรือ กีดกันและรักษาฐานอำนาจไว้ให้นานที่สุด จึงได้มีหอกข้างแคร่ คอยหยิบยื่นดาบให้องค์กรอื่นทิ่มแทงองค์กรของตนให้ระส่ำระสาย ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่ร่ำไป
" ที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก คือ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อมิให้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาผูกพันกับทุกองค์กร เพราะศาล รธน. ทำหน้าที่แค่ตีความรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า judicial review เท่านัั้น เพราะไม่เช่นนั้น อาจทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบได้ อีกทั้ง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรไปผูกพันคำตัดสินของศาลยุติธรรมซึ่งพิจารณาข้อกฎหมาย หรือ ข้อเท็จจริงเฉพาะเรื่อง
เพราะการมีประมวลกฎหมาย ว่าด้วย วิธีพิจารณาความอย่างละเอียดทำให้ประชาชนมั่นใจว่า กระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรมมีความเที่ยงตรงและเป็นธรรม เช่น กรณีบ้านพักทหาร ก็พิจารณาและคัดลอกเพียงคำให้การบางส่วนของ บิ๊กแดง อย่างเดียว ส่วนข้อกฎหมายก็ไปพิจารณาระเบียบกองทัพ เพียงอย่างเดียว พร้อมทั้ง ก้าวล่วงกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมและเหตุนี้ ทำให้ประชาชนหมดความศรัทธาทั้งระบบยุติธรรม"