ปัจจุบันสถานการณ์เกี่ยวกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าเป็นภัยคุกคามและทวีความรุนแรงมากขึ้น ในทวีปแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเงินและทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดฐานลักลอบสัตว์ป่านี้ ยังถูกนำไปใช้สนับสนุนการกระทำความผิดฐาน ในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ การทุจริต การค้าขายอาวุธ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ รวมทั้งการก่อการร้าย ซึ่งปัญหาดังกล่าวประชาคมโลกให้ความสำคัญ โดยคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force : FATF) ซึ่งเป็นองค์กรที่กำหนดมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ได้ระบุในมาตรฐานสากลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องกำหนดให้ความผิดฐานอาชญากรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นความผิดมูลฐานฟอกเงิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และอนุสัญญาไซเตส (อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) ได้กำหนดให้รัฐภาคีใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อบังคับใช้รวมทั้งห้ามการค้าตัวอย่างพืชพันธุ์อันขัดต่อบทบัญญัติแห่งอนุสัญญา ซึ่งหากประเทศสมาชิกไม่มีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อบังคับปฎิบัติตามอนุสัญญาไซเตส ก็จะถูกขึ้น “บัญชีดำไซเตส”
โดยที่ผ่านมาประเทศไทยเคยถูกขึ้นบัญชีดำไซเตส 2 ครั้ง ในปี 2534 และปี 2557 ผลกระทบจากการที่ประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีดำไซเตสคือ การถูกคว่ำบาตรการค้าเชิงพาณิชย์ของสินค้า จากนั้นมารัฐบาลพยายามผลักดัน แผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยได้ผลักดัน พระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558 และเพิ่มให้ “ช้างแอฟริกา” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 รวมทั้งปรับปรุงบทลงโทษและวิธีการจดทะเบียนรูปพรรณช้างเลี้ยงของไทย พร้อมทั้งการสั่งปราบปรามจับกุมงาช้างที่ผ่านเข้ามาตามด่านท่าเรือและด่านศุลกากรต่างๆ
ต่อมาการประชุมสมัยสามัญไซเตสครั้งที่ 18 (CITES COP18) วันที่ 24 สิงหาคม 2562 มีมติถอดไทยออกจากกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมายซึ่งหมายความว่าประเทสไทย “หลุดจากบัญชีดำไซเตส” เนื่องจากมีการจับกุม ยึดอายัดทรัพย์สินของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พลตำรวจตรี ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รรท.เลขา ปปง. กล่าวว่า ปัญหาการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศในเรื่องนี้ รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญ และได้กำหนดให้เป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับต้น และให้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมโลกว่า รัฐบาลไทยมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยสำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการตามกฎหมายฟอกเงิน เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่องเพื่อตัดวงจรและท่อน้ำเลี้ยงในการก่ออาชญากรรม โดยสำนักงาน ปปง. ได้มีการเสนอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ราย นายบุญชัย แบกส์ กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์ลักลอบกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่าข้ามชาติ ตัวลิ่น นอแรด งาช้าง แก๊งค์ลักเสือจากสวนสัตว์ ล้มช้างเอางา โดยนายบุญชัยฯ กับพวก ได้ลักลอบกระทำความผิดเป็นขบวนการมาเป็นเวลานานนับสิบปี มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหลายกลุ่ม และได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจำนวนมาก มีเงินหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 330 ล้าน เช่น โรงแรมพร้อมกิจการ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 20 รายการ รวมมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท พร้อมดอกผล และคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 มีมติเห็นชอบให้ยึดและอายัดทรัพย์สินตามที่เสนอ
เพื่อปราบปรามขบวนการนี้อย่างเด็ดขาด สำนักงาน ปปง. ได้ทำการขยายผลปิดล้อมตรวจค้นสถานที่เกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดนครพนมและชัยภูมิเพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทำความผิดเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 จากการตรวจค้นพนักงานเจ้าหน้าที่พบทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม จำนวน 22 รายการ ได้แก่ เงินสด, พระเครื่อง, อาวุธปืน, เฟอร์นิเจอร์ไม้, รถยนต์, กวาง, เนื้อทราย รวมมูลค่าประมาณ 3,244,860 บาท พร้อมดอกผล ได้มีคำสั่งให้ยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นตามมาตรา 48 วรรคสองไว้ดำเนินการตามกฎหมายและจะได้รายงานให้คณะกรรมการธุรกรรมทราบต่อไป
สำหรับการดำเนินการในเรื่องนี้ สำนักงาน ปปง. ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช องค์กรเอกชน “มูลนิธิฟรีแลนด์” (FREELAND) ซึ่งดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานของภาครัฐและเอกชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อต้านการค้าสัตว์ป่า และการค้ามนุษย์ จึงนำไปสู่การดำเนินการกับนายทุน ที่อยู่เบื้องหลังการลักลอบกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ในการให้ความสำคัญต่อการปราบปรามขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่าข้ามชาติที่นานาชาติ ที่ผ่านมาสำนักงาน ปปง. ได้มีการดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ หลายคดี มีมูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาท และยังมุ่งดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพบเห็นบุคคลใดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด สามารถโทรแจ้งหรือสอบถามได้ที่สายด่วน 1710