เมื่อเวลา 06.30 น. วันที่ 16 มี.ค.64 ที่ ลานโคปุระ เกาะกลางน้ำห้วยน้ำคำ จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่าตนพร้อมด้วยนายสำรวย เกษกุล นายวิชัย ตั้งคำเจริญ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รองผู้ว่าราชการจังหวัด นางฐพัชร์รดา ธนินท์จิรานนท์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดศรีสะเกษ พัฒนาการอำเภออุทุมพรพิสัย พัฒนาการอำเภอศรีรัตนะ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และประชาชนจำนวนมาก ได้นุ่งผ้าไทย ใส่บาตร สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ซึ่งการจัดกิจกรรมนุ่งผ้าไทยใส่บาตร ทำความดีวิถีพอเพียง นี้ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันอังคารตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เพื่อกระตุ้นให้ชาวจังหวัดศรีสะเกษได้สวมใส่ผ้าไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่มีการรณรงค์ให้ประชาชนได้ใช้และสวมใส่ผ้าไทยทุกวันอังคารและวันศุกร์ จึงเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ OTOP มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่า และลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมอีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย และจังหวัดศรีสะเกษได้พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงโดยมอบหมายให้ นายจรินทร์ รอบการ พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ นำน.ส.ธนพร ขจิตเวทย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานฯ จัดผู้ประกอบการ OTOP มาจำหน่ายขายสินค้าของชุมชน/สินค้า OTOP ภายในงาน ณ ลานโคปุระ เกาะกลางน้ำห้วยน้ำคำ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกันออกบูธสินค้าชุมชน ในกิจกรรมนุ่งผ้าไทยใส่บาตรฯ สร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้า OTOP ประจำวันอังคารที่ 16 มีนาคม 2564 มียอดจำหน่ายสูงถึง 61,380 บาท นอกจากเป็นการ ทำความดี วิถีพอเพียงยังเป็นโอกาสให้หัวหน้าส่วนและประชาชนได้ร่วมกันทำบุญ เสริมสร้างจริยธรรม และอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน และสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก รู้สึกพอใจมากที่ “อะไร ๆ ก็ดีที่ศรีสะเกษ”
นายจรินทร์ รอบการ พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษให้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผ้าทออัตลักษณ์ศรีสะเกษ “ผ้าทอเบญจศรี” ผ้าแบรนด์ศรีสะเกษ ภายใต้แนวคิด “ศรีสะเกษ ธานีผ้าศรี...แส่ว” ซึ่งเป็นวาระสำคัญของจังหวัด ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานของรัฐในการร่วมโครงการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ผ้าไทย อันเป็นศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และให้ชาวโลกได้ชื่นชม อีกทั้ง เพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่น ให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทย แก่ประชาชนทั่วประเทศ และยังสนับสนุน ส่งเสริม การสร้างงาน สร้างอาชีพ และเสริมสร้างรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้า มาสืบสาน รักษา ต่อยอด โดยใช้ทรัพยากรในพื้นที่ที่เป็นที่รู้จัก 5 ชนิด ได้แก่ ดินปลูกทุเรียนภูเขา ดินทุ่งกุลาร้องไห้ เปลือกไม้มะดันป่า ใบลำดวน และผลมะเกลือ นำมาย้อมผ้าได้เป็นผ้าทอ 5 ชนิด ได้แก่ ผ้าศรีลาวา ผ้าศรีกุลา ผ้าศรีมะดัน ผ้าศรีลำดวน และผ้าศรีมะเกลือซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวศรีสะเกษ นำมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย โดยใช้การแส่วผ้าซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการต่อผ้าสองชิ้นเข้าด้วยกัน แส่วด้วยลายโบราณ เช่น ลายหางสิงห์ ลายตีนตะขาบ ลายขามดแดง ต่อมามีการพัฒนาลายแส่วประยุกต์เพิ่มประดับให้มีความสวยงาม เช่น ลายเชิงเทียน ลายดอกไม้ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าทอ เป็นการส่งเสริมให้ช่างทอช่างแส่ว และกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ มีรายได้จากการย้อม ทอ แส่ว และแปรรูป จากผ้าแบรนด์ศรีสะเกษ
นอกจากนี้ยัง เป็นโอกาสอันดีที่ ได้สนองพระราชดำริและสานต่อพระราชปณิธาน ในการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน สวมใส่ผ้าไทย ผ้าทอ ลาย “ขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่กลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ในการใช้เทคนิคและทอผ้าลาย"ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทั้งนี้ กิจกรรมนุ่งผ้าไทยใส่บาตร ทำความดีวิถีพอเพียง ที่ดำเนินการจัดกิจกรรม ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ถึง 9 มีนาคม 2564 มียอดจำหน่ายสะสม 3,800,380 บาท ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้