วันที่ 15 มีนาคม 64 ที่โรงแรมเดอ ไพรม์ แอท รางน้ำ กรุงเทพมหานคร นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน.เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาทักษะและสมรรถนะครู กศน. ด้านการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ระหว่างวันที่ 15-19มีนาคม 2564 โดยมีนางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ข้าราชการ และผู้ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
นายวรัท กล่าวว่า “การจัดการศึกษาหรือการจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพจะสำเร็จหรือล้มเหลว ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา สำนักงาน กศน. จึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะครูผู้สอนในทุก ๆ ด้าน อาทิ ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านการวัดและประเมินผล ด้านสื่อและแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนการพัฒนาตนเอง เนื่องจากครู กศน. มีหลายประเภทและส่วนใหญ่ไม่จบด้านครูหรือศาสตร์วิชาชีพครูโดยตรง และต้องจัดการเรียนรู้ในทุกรายวิชาที่ผู้เรียนลงทะเบียนในภาคเรียนนั้น ๆ จากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา กศน. ที่ผ่านมาพบว่า ผู้เรียนในทุกระดับการศึกษามีผลการสอบปลายภาคเรียนและผลการสอบ N - NET วิชาภาษาอังกฤษค่อนข้างต่ำ ซึ่งเกิดจากวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ไม่สอดคล้องกับความหลากหลายของผู้เรียน ครูผู้สอนขาดความเชี่ยวชาญในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในรายวิชาภาษาอังกฤษ ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาในรายวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารทั่วโลก และเป็นสมรรถนะที่สำคัญและจำเป็นในยุคดิจิทัลและศตวรรษที่ ๒๑ ที่จำเป็นต้องส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพจากเดิม เพื่อ Up Skill Re Skill สร้างศักยภาพ เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากเดิม ด้วยการเติมเต็มสิ่งใหม่ ๆ เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ครู กศน. นำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้สู่การพัฒนาตนเองและวิชาชีพเพื่อสร้างครู กศน.ต้นแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ให้สามารถถ่ายทอดขยายผล สร้างความรู้ ความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้บริหาร ผู้ร่วมวิชาชีพและผู้เรียน โดยใช้กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ(PLC) เพื่อยกระดับสมรรถนะทางด้านภาษาอังกฤษและการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นอีกด้วย"
นายวรัท กล่าวอีกว่า “ กศน.ได้ปรับรูปแบบการพัฒนาทักษะและสมรรถนะครู กศน. ด้านการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ให้มีความทันสมัยและน่าสนใจ บนฐานของความสนุก ง่ายแต่ใช้งานได้จริงผ่านกิจกรรม การสอนและสื่อที่หลากหลาย ตอบโจทย์การเรียนรู้ได้อย่างครอบคลุม นอกจากนี้เรายังได้รับความร่วมมือจากครูเก่งๆ หลายท่าน เช่น ดร.ปิยพงษ์ สุเมตติกุล คุณคริสโตเฟอร์ ไรท์ และครูบอลลี่ เป็นต้น เข้ามาเสริมทีมจัดทำ หลักสูตรและคู่มือนี้กับ กศน.อีกด้วย ซึ่งเชื่อมั่นว่าการพัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษในปีนี้ จะก้าวสู่การเป็นครูต้นแบบได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญหลักสูตรดังกล่าวได้รับการรับรองกรอบหลักสูตรจากสำนักงาน ก.ค.ศ. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะสามารถจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจ Aspire to Inspire แก่ครู กศน. ที่เข้ารับการอบรมในการสามารถนำผลที่ผ่านการพัฒนาไปใช้ในการขอมีและขอเลื่อนวิทยฐานะ ตาม ว22 ได้ อันจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาครูของเราให้มีศักยภาพและก้าวหน้าในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างองค์ความรู้เพื่อการถ่ายทอดพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษไปสู่นักศึกษา กศน. และประชาชนได้อย่างมีคุณภาพต่อไป