โครงการ Care the Whale “ขยะล่องหน” บนถนนรัชดาภิเษก จากพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้งานบริหารจัดการขยะ ขยายสู่ความร่วมมือนอกย่าน ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กับพันธมิตรและเครือข่ายกว่า 30 องค์กร ประกอบด้วย ผู้ประกอบการธุรกิจ 14 แห่ง ซึ่งมีที่ตั้งบนถนนรัชดาภิเษก ทั้งบริษัท ศูนย์การค้า และที่พักอาศัย นักธุรกิจเพื่อสังคม พันธมิตรที่เป็นผู้ประกอบการในห่วงโซ่ของการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสามารถลดก๊าซเรือนกระจก 4,268,495.04 กิโลคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Kg.CO2e) หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ใหญ่อายุ 10 ปี 474,277 ต้น
ความสำเร็จมาจากหัวใจหลัก 3 ข้อ
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนถึงผลงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาของโครงการนี้ผ่านวงเสวนาออนไลน์ Climate Care Forum “Survive Climate Tipping Point” ว่า โครงการนี้ ดำเนินงานภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) 3 ข้อได้แก่ ข้อ 13 “Climate Action” การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อ 12 “Responsible Consumption and Production” การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และข้อ 17 “Partnerships for the Goals” ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับ 4 ภาคส่วนสำคัญดังกล่าวข้างต้น ซึ่งความร่วมมือของโครงการไม่ได้สะท้อนออกมาเป็นตัวเลขเท่านั้น ในด้านกระบวนการปฏิบัติ สมาชิกสามารถบริหารจัดการตั้งแต่การแยกขยะจากต้นทางไปสู่ปลายทาง เพื่อเข้าสู่กระบวนการ Circular Economy ได้อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้น
“ความสำเร็จมาจากหัวใจหลัก 3 ข้อ ได้แก่ 1.การกำหนดนโยบายกลยุทธ์และวางแผนระบบบริหารจัดการขยะร่วมกันตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงระดับปฏิบัติการ 2.การวัดค่าวิเคราะห์และประเมินผล และ 3.การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสมาชิกและสื่อสารในวงกว้าง เพื่อขยายผลลัพธ์ทางสังคม พร้อมเป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการขยะเพื่อเริ่มขยายไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งมีการตอบรับจากผู้ที่ให้ความสนใจที่ไม่ได้อยู่เพียงแค่ถนนรัชดาภิเษก”
ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 10%
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ปัจจุบันโลกมีการตั้ง World Clock เพื่อนับถอยหลังว่าเหลือเวลาเพียง 6 ปีกว่า ที่ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ผลิตขึ้นจะไม่สามารถถูกดูดซับจากจำนวนต้นไม้ที่มีอยู่ในโลกได้ (คาร์บอนซิงก์) ซึ่งถึงเวลาที่ต้องช่วยกันลดปริมาณคาร์บอนได้ออกไซด์และเพิ่มพื้นที่สีเขียว แม้แผนนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดเป้าหมายว่า ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็น 40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 31.2% โดยพื้นที่ป่าปัจจุบันดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 80 ล้านตัน/ปี แต่ปัจจุบันไทยผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 350 ล้านตัน/ปี
ทั้งนี้แม้สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ 40% แต่ก็ดูดซับได้เพียง 100 ล้านตัน/ปี หรือจะเปลี่ยนพื้นที่ประเทศไทยที่มีทั้งหมด 323 ล้านไร่ ให้เป็นป่าสีเขียวทั้งหมดก็ยังไม่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยมาได้ เท่ากับสิ่งสำคัญสุด คือ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเพิ่มพื้นที่ป่า ลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ หรือหานวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยแก้ไขปัญหานี้
“ผมดีใจที่หลายบริษัทบนถนนรัชดาภิเษกเริ่มลดขยะในที่ทำงาน เพราะถือเป็นหนึ่งในถนนที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ และการรวมตัวกันครั้งนี้ เพื่อทำเป็นตัวอย่างที่ดีนั้น ถือเป็นก้าวสำคัญ เพื่อเปลี่ยนขยะที่เป็นได้แค่ขยะ ให้นำมาขายหรือทำประโยชน์ได้อีกครั้ง”
โลกร้อนเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน
ขณะที่ วิทยากรต่างสาขาร่วมถ่ายทอดสิ่งที่โลกกำลังเผชิญกับสภาวะโลกร้อน (Climate Change) โดยมุมมองของ ดร.ไชยยศ บุญญากิจ รองประธานเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า โลกร้อนเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันทำ สิ่งสำคัญคือ ควรให้ความสำคัญการผลิตเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น ดูวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ รวมถึงทำอย่างไรที่จะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น โดยต้องดูตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ให้มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยลง
“การจะรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ เรื่อง Mindset เป็นเรื่องสำคัญและใหญ่ที่สุด ควรบริโภคเท่าที่จำเป็น จึงจะเป็นประโยชน์ หรือถ้าต้องการจะเห็นอะไรต้องลงมือทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้”
ไม่เปลี่ยนแปลงปี 2050 ขยะในทะเลมีมากกว่าปลา
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ ให้มุมมองว่า พลังงานในประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 69% มีสัญญาณที่ดีซึ่งเอกชนได้เริ่มทำกิจกรรมเข้าสู่ Core Business คือกระบวนการผลิต/กระบวนการทางธุรกิจ ที่มีการกำหนดแผนงาน หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ใช้วัตถุดิบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดขยะตั้งแต่ต้นทางสู่การจัดการปลายทาง
“ผมหวังว่าในอนาคตจะเกิด C ตัวที่ 3 คือ “Collaboration” เพราะภาครัฐ ต้องขอความร่วมมือกับเอกชน ภาคประชาชนและผู้บริโภค กับปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม เพราะโครงการนี้ ถือเป็นรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมาก”
หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต Extended Producer Responsibility (EPR) ขยายกว้างมากขึ้น ที่ต้องรับผิดชอบกับขยะที่ผลิตด้วย ซึ่งสามารถลดทั้งต้นทุนและลดขยะไปในตัวด้วย และนี่คือ Circular Economy / Green Economy ที่แท้จริง
วันนี้ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนแปลงเรื่องเหล่านี้ ปี 2050 ขยะในมหาสมุทรจะมีมากกว่าจำนวนปลา ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้จะบรรลุเป้าหมายได้ การใช้กฎหมายอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม และต้องใช้เครื่องมืออื่นเข้าช่วยด้วย ได้แก่ เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เช่น คาร์บอนฯ ต้องมีราคา เพราะถ้าลดคาร์บอนฯ ก็จะได้ราคา หรือทำให้ขยะมีราคา เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานสะอาด ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน
วัดศูนย์กลางเรียนรู้ของคนในชุมชน
พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ ต้นแบบในการแปลงขวดพลาสติกมาเป็นผ้าไตรจีวร บอกว่าเริ่มจัดการดูแลขยะภายในวัดมาตั้งแต่ปี 2548 จากการนำพลาสติกไปทำเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง การนำใบไม้มาทำเป็นปุ๋ยหมัก จนวัดกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านนี้ของคนในชุมชน โดยสร้างองค์ความรู้จากพระในวัดจนเป็นต้นแบบได้แล้ว ศรัทธาจะเกิดขึ้นตามมา ด้วยการดึงคำสอนในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น เรื่องการปลูกต้นไม้ การทำความสะอาด มาเปรียบเทียบให้คนฟังได้เกิดความเข้าใจได้ง่าย ซึ่งนอกจากช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังลดโลกร้อนที่อยู่ภายในใจได้อีกด้วย
หลังโควิด-19 แนวโน้มขยะยังสูงขึ้นอีก
ขณะที่นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลตัวเลขจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยว่า การนำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิลปี 2563 เทียบ 2562 ดีขึ้น 33% แสดงว่าการจัดการดูแลขยะดีขึ้น แต่ความจริงจำนวนขยะเพิ่มขึ้น และยังทำให้เกิดขยะที่เหลือนำกลับไปรีไซเคิลไม่ได้ คาดหลังโควิด-19 แนวโน้มขยะยังสูงขึ้นอีก เพราะผู้บริโภคเคยชินกับการสั่งอาหารออนไลน์ บริษัทจึงทำโครงการวน (Won Together) ร่วมมือกับหลายภาคส่วน มีจุดรับขยะ ซึ่งเก็บเศษขยะพลาสติกมาแล้วกว่า 100 ตัน หรือกว่า 1 แสนกิโลกรัม ช่วยลดคาร์บอนฯ 93.8 ตัน โดยนำกลับมาผลิตเป็นถุงพลาสติกที่มาใช้ซ้ำใหม่ เป็นถุงวนหรือถุงคืนชีพ
“ถ้าทุกภาคส่วนร่วมกันรับผิดชอบการใช้พลาสติก โดยผู้ผลิตรู้ต้องออกแบบอย่างไรให้คัดแยกและนำไปสู่การรีไซเคิลได้ง่าย ผู้ใช้รู้ว่าใช้เสร็จต้องล้างทำความสะอาด ยิ่งมี EPR มาช่วยก็จะเกิดและไปได้เร็วขึ้น อยากให้ทุกคนมองว่า ขยะพลาสติก คือวัตถุดิบ และนำมาแปรรูปให้มีคุณค่าขึ้นมาได้"
การลด Food Waste ได้เป็นหน้าที่พลเมืองโลก
ดร.สุทัศน์ รงรอง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดูอินไทย จำกัด ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโลกมี Food Loss และ Food Waste รวมกัน 1,300 ล้านตัน/ปี คิดเป็นการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ที่ทำให้โลกร้อนเทียบเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิม่า 4 แสนลูกมาลงบนโลกทุกวัน โดย 26% มาจากการผลิตอาหาร และ 6% เป็น Food Waste ดังนั้นทุกคนจึงมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเพราะต้องบริโภคอาหารทุกวัน เวลาแก้ปัญหาทุกวันนี้ พูดถึงเรื่องความยั่งยืนตาม Food Waste Index หนึ่งในนั้นระบุว่า ถ้าธุรกิจที่ทำอาหาร จะต้องลด Food Loss ใน Supply Chain ให้ได้ครึ่งหนึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า และการที่ลด Food Waste ได้ ควรเป็นหน้าที่ของพลเมืองโลก
โดยทุกวันนี้นอกจากแยกขยะแล้ว ต้องชั่งด้วย หรือก่อนจัดงานเลี้ยง ต้องวางแผนก่อนว่าไม่ให้ขยะเกิดขึ้น หรือนำไปฝังกลบให้น้อยที่สุด เพราะการฝังกลบนำไปสู่การสร้างก๊าซมีเทน ที่อาจจะเป็นสาเหตุทำให้โลกร้อนมากกว่า
สิ่งทอมีส่วนทำน้ำเสีย-ก๊าซเรือนกระจก
นายจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด และผู้ก่อตั้ง บริษัท วิถีไทย กรุ๊ป จำกัด ให้ข้อมูลว่า ขยะแฟชั่นมีราว 80-90 ล้านตัน/ปี เทียบเท่ากับคนไทยมีเสื้อผ้าใส่ 1 ชุดฟรีต่อวันไปอีก 5-10 ปี และภายใน 10-20 ปีข้างหน้าที่ประชากรเพิ่มจำนวนทุกปี ขยะสิ่งทอจะเพิ่มขึ้นอีก 30% ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นเกี่ยวข้องกับโลกร้อนมาก ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เพราะมีการอ้างอิงทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม โดย 20% ของน้ำเสียทั่วโลกมาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น ซึ่ง 10% ของก๊าซเรือนกระจกมาจากอุตสาหกรรมนี้
โดยฝ้าย 1 กิโลกรัมเฉลี่ยทำเสื้อผ้าได้ 3 ตัว และใช้น้ำถึง 1 หมื่นลิตร เทียบเป็นน้ำดื่มได้ 10 ปี/ 1 คน และกระบวนการผลิตเสื้อผ้า โดยการฟอกย้อม ทอผ้า ตัดเย็บ ล้วนปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ออกมา ดังนั้นโกลบอลแบรนด์หลายประเทศประกาศชัดเจนก่อนถึงปี 2030 จะใช้วัสดุที่ยั่งยืน ออร์แกนิก หรือรีไซเคิล เพื่อสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือโลกร้อนให้น้อยลง แม้เมืองไทยอาจเป็นเรื่องใหม่ แต่หลายแบรนด์เริ่มรณรงค์เรื่องนี้แล้ว
“สิ่งที่บริษัททำ เช่น โครงการ นำวัตถุดิบรีไซเคิลจากของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ แม้มีต้นทุนสูงโดยยังไม่สร้างผลกำไรและไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกนี้ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน แบรนด์สินค้า หรือ Supply Chain ทุกคนยังสามารถใส่แฟชั่นได้เหมือนเดิม แต่จะมีเทคโนโลยีที่มาช่วยทำให้การผลิตอยู่ในหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน กลับมาใช้ใหม่หรือข้ามอุตสาหกรรมกันได้ เช่น อาจจะเห็น Food Waste มายังอุตสาหกรรมแฟชั่นหรือสิ่งทอก็ได้”
เปลี่ยนขยะสร้างงานศิลป์เกิดมูลค่าเพิ่ม
น.ส.วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินที่ใช้ศิลปะเพื่อกระตุ้นเรื่องสิ่งแวดล้อม บอกเล่าว่า ศิลปะก็สามารถพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน ถ้ามีความคิดสร้างสรรค์ใส่ลงไปในวัสดุ ก็สามารถแปรเปลี่ยนให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้ทุกประเภท นอกจากความสวยงามแล้ว ยังให้คนสัมผัสงานชั้นสูง อีกทั้งปริมาณวัสดุที่ทำนำมาใช้ และมีการจดสถิติประเภทของวัสดุนานาชนิด และปริมาณและสามารถดูดซับคาร์บอนฯ ได้กี่กิโลกรัม การทำหน้าที่ Social Activist Artist คือ การทำเรื่องอะไรก็ได้ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคง ซึ่งสิ่งที่เธอเลือกนำเสนอคือ สิ่งแวดล้อม เพราะสัมพันธ์กับเป้าหมาย SDGs ทั้งหมด 17 ข้อ และเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนในตอนนี้
“ศิลปินมีหน้าที่ทำงานศิลปะ และขายงานศิลปะ อาร์ตติสก์เหมือนธุรกิจอย่างหนึ่ง การทำอะไรเพื่อสังคมเราต้องคิดว่าสังคมอยู่ได้เราก็ต้องอยู่ได้ นอกจากเรื่องรีไซเคิล การมีสติและใช้อย่างพอประมาณ ตั้งแต่การบริโภคอาหารพอดี เสื้อผ้าสามารถมา DIY หรือการผลิตถุงผ้าควรดูกระบวนการตั้งแต่ต้นทางว่าดีแล้วจริงหรือไม่ ไม่อยากให้คนมองแค่ว่าแบนพลาสติกแล้วใช้ถุงผ้า แต่พลาสติกบางประเภทก็มีประโยชน์เหมือนกัน”
ปรับมุมคิดร่วมกับธุรกิจเพื่อสังคม
น.ส.นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เป็นโครงการที่เริ่มจากการปรับมุมคิด ร่วมกับธุรกิจเพื่อสังคม ที่ไม่ได้มุ่งไปที่การคัดแยกขยะ แต่เป็นการเปลี่ยนความคิดว่าไม่มีอะไรในโลกเป็นขยะ
“สิ่งที่เราได้จากโครงการคือ แม่บ้าน พนักงาน มีความรู้ในการคัดแยก มาเป็นแนวหน้าในการทำงาน ได้เพิ่มทักษะ จัดทำกระบวนการให้คนที่อยู่ในตึกรู้ว่าจะแยกขยะอย่างไร เป็นการเรียนรู้ของแต่ละบ้าน ซึ่งพันธมิตรให้ความร่วมมืออย่างดี”
ปีนี้หลังจากกดปุ่มเดินหน้าโครงการสู่ปีที่ 2 โดยเริ่มขยายไปยังพันธมิตรนอกย่าน เพิ่มผู้สนใจ และเพิ่มระบบการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ Climate Care Calculator Digital Platform เครื่องมือบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ช่วยวิเคราะห์และประเมินผล เพื่อรองรับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดรับการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)
ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แม้การแก้ไขไม่มีเจ้าภาพ แต่ทุกอย่างต้องเริ่มที่ตัวเราเอง และสิ่งสำคัญที่สุดคือการลงมือทำทันที