เมื่อนึกถึง “ประชาสัมพันธ์” หรือ “พีอาร์” แถวหน้าของประเทศในแวดวงโทรคมนาคมของบริษัทเอกชนแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ “วิไล เคียงประดู่” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส แม่ทัพคนสำคัญของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ค่ายสีเขียว ที่โลดแล่นอยู่ในวงการพีอาร์มากว่า 20 ปี ท่ามกลางการขับเคี่ยวของโลกธุรกิจ การจะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำและการจะทำกิจกรรมให้เป็นที่โดนใจนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของทีมพีอาร์เอไอเอส เมื่อในวันนี้ “วิไล เคียงประดู่” ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าหลายๆโครงการของเอไอเอส ได้เข้าไปนั่งอยู่ในใจของผู้คนทั่วประเทศ โดยเฉพาะโครงการเพื่อสังคมอย่าง “โครงการสานรัก” และ “โครงการ อสม.ออนไลน์” วิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เผยถึงกลยุทธ์งานประชาสัมพันธ์ว่า หัวใจสำคัญของงานพีอาร์ต้องเป็นงานที่เป็นทีมเวิร์ก เพราะสิ่งที่เราทำวันนี้ประสบความสำเร็จ ไม่ได้หมายความว่าวันข้างหน้าจะประสบความสำเร็จ ดังนั้นการทำงานที่เป็นทีมเวิร์ก ร่วมมือกัน ไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยกันระดมความคิด และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัท จะทำให้งานพีอาร์มีความก้าวหน้าและผิดพลาดน้อยลง “เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปเร็วมากในทุกๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี หรือเรื่องของผลพวงมาจากเทคโนโลยี ทำให้โลกใบนี้ใกล้กันมากขึ้น ดังนั้นการเคลื่อนตัวในทุกๆเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพฤติกรรม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ทุกอย่างจึงรวดเร็วไปหมด บริษัทที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ทั้งหลายจึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเรามีความพร้อม มีความแข็งแกร่ง มีเม็ดเงินในการลงทุน ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงหรือก้าวให้ทันกับโลกที่มีความเคลื่อนตัวเร็ว แต่ข้อเสียคืออาจจะเคลื่อนตัวช้าเมือ่เทียบกับองค์กรขนาดเล็กที่สามารถเคลื่อนตัวได้รวดเร็วฉับไวกว่า ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้การที่องค์กรขนาดใหญ่จะก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง จึงต้องคาดการณ์ก่อนล่วงหน้า สมมติว่าในปีหน้ามีจุดเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่สำคัญ องค์กรขนาดใหญ่ๆทุกองค์กร จะต้องดำเนินการก่อน เพื่อรองรับให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงนั้นๆ” ในมุมมองของเชิงธุรกิจ วิไลกล่าวว่า “ต้องยอมรับว่าการสื่อสารในเรื่องธุรกิจโทรคมนาคมในปัจจุบันเหมือนกันหมด ซึ่งเกิดจากการแข่งขันที่ผลักดันกันไป เราเองพยายามที่ปรับกลยุทธ์ในการสื่อสารเพื่อที่จะให้เราแตกต่าง โดยสิ่งที่ทำวันนี้นั้น ทำแล้วเกิดประโยชน์กับลูกค้า เมื่อออกไปสู่ตลาดแล้วลูกค้าจะได้อะไร ประเทศได้อะไร เราจะพยายามเปลี่ยนวิธีในการสื่อสาร ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการดูแลลูกค้า ก็จะเกิดรายละเอียดและใส่ใจมากยิ่งขึ้น สำหรับอุปสรรคในการทำงานพีอาร์ที่พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องจุกจิก เช่นความคลาดเคลื่อนในกระบวนการสื่อสารระหว่าง “ส่วนงานโฆษณา” กับ “ส่วนงานประชาสัมพันธ์” เมื่อพบต้องรีบปรับแก้ คือถ้าการสื่อสารที่มีความสอดคล้องกันแล้ว งานจะเป็นไปตามแผนได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามในกระบวนการทำงาน เราจะมีแผนรองรับเสมอ สิ่งสำคัญคือทุกเรื่องต้องตรวจสอบหากพบข้อผิดพลาองรีบแก้ไขทันที” หากต้องรับมือกับสถานการณ์การผลัดใบขององค์กร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโสฯ ให้คำแนะนำว่า “แน่นอนว่าในทุกองค์กรย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นหัวใจสำคัญคือเรื่องของการสื่อสารให้เข้าใจ ให้ไปในทิศทางเดียวกัน ให้รู้ในจุดมุ่งหมายเดียวกัน และการสื่อสารนั้นต้องลงไปในทีม ซึ่งแต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิตที่ไม่เท่ากัน พูดสิ่งเดียวกันอาจตีความไม่เหมือนกัน สิ่งที่ทำให้เรามั่นใจว่าเข้าใจตรงกันก็คือการ 'ลงมือทำ' แล้วตรวจสอบ คือนอกจากจะสื่อสารให้เห็นภาพชัดไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ในระหว่างทำงานเพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนไปในทิศทางเดียวกัน ต้อง 'ตรวจสอบ' และ 'ให้คำแนะนำ' ไปด้วย ส่วนเทคนิคการปรับให้เข้ากันคือการฟังความเห็นร่วมกัน ระดมความคิดเห็นร่วมกัน ซึ่งบางครั้งเราอาจจะมีธงในใจ แต่ถ้ามีเหตุและมีผลที่เหมาะสม ธงนั้นควรจะเปลี่ยน อย่ายึดมั่นถือมั่น ที่สำคัญแม้ว่าเราจะมีธงในใจอยู่แล้ว อย่าไปชี้นำ พยายามให้ทุกคนมีความคิดเห็น หากความคิดเห็นนั้นมีความสอดคล้อง นั่นยิ่งทำให้เรามั่นใจมากยิ่งขึ้น เราก็จะได้ชูธงที่เหมือนกัน” วิไลกล่าวอีกว่า
งานประชาสัมพันธ์หัวใจอยู่ที่ 'กลยุทธ์ในการสื่อสาร'
ทำหน้าที่เป็นเหมือนกระบอกเสียงให้บริษัท เสมือนเป็นกองทัพหนึ่งของบริษัทที่ให้บุคคลภายนอกเห็นว่าบริษัทเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้งานประชาสัมพันธ์จึงต้องการคนที่เปิดใจ ศึกษาอยู่เสมอ เป็นคนที่กระตือรือร้น อัธยาศัยดี การมีใจในการให้บริการสูง และที่สำคัญที่สุดคือต้อง 'อดทน' เพราะคุณอยู่ระหว่างบุคคลภายในองค์กรและภายนอกองค์กร ในส่วนของเนื้องาน งานพีอาร์เป็นงานที่มีสเน่ห์ ไม่มีสูตรตายตัว เป็นงานที่มีกระบวนการที่จะพัฒนาตัวเราขึ้นเรื่อยๆ เริ่มต้นจากระดับพื้นฐานซึ่งมีหน้าที่หลักคือทำคอนเท้นต์ที่ได้รับมอบหมายให้ได้รับการตอบรับที่สูงจากภายนอก พอเลื่อนเป็นระดับกลางก็จะทำหน้าที่บริหารจัดการให้คอนเท้นต์ที่อยู่ในช่องทางต่างๆเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งแปลว่าคุณต้องมีกระบวนการคิด กระบวนการวางแผนและมีแผนงาน และเมื่อเลื่อนไปในระดับที่สูงขึ้นมาอีก คุณจะต้องเป็นคนที่มีกลยุทธ์ในการสื่อสารและมีกลยุทธ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ต้องมีความเข้าใจและชัดเจนว่า สิ่งที่คุณจะส่งออกไปนั้น ใช่ตามที่ลูกค้าต้องการหรือเปล่า “คนที่ทำอาชีพพีอาร์เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น จะมีความเข้าใจในเรื่องของการวางกลยุทธ์และการสื่อสารมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีอิทธิพลมากต่อการที่จะโน้มน้าว บอกเจตนารมย์ รวมถึงการช่วยเหลือสังคม คนที่ทำอาชีพพีอาร์ต้องมองภาพรวม เพราะพีอาร์คือ 'การสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรแบบองค์รวม' ” วิไลกล่าวทิ้งท้าย "ศุภลักษณ์ หัตถพนม"