กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สถาปนาครบรอบ 69 ปี สร้างความเข้มแข็งด้านการเงินการบัญชี นำขบวนการสหกรณ์ไทยสู่ความโปร่งใส เข้มแข็ง ยั่งยืน เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ครบรอบ 69 ปี พร้อมมอบโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณบุคลากรดีเด่น กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ประจำปี พ.ศ.2563 ซึ่งคัดเลือกจากข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการ ผู้มีความประพฤติปฏิบัติอันเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งในด้านการครองตน ครองคน ครองงาน การปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม การมีจิตสาธารณะ และมีผลการปฏิบัติงานที่ดีเด่นเป็นผลดีแก่ราชการ จำนวนทั้งสิ้น 36 ราย โดยมีนายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายพจน์ภิรัชต์ เนียมจุ้ย รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ให้การต้อนรับ ณ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เทเวศร์ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก เพื่อช่วยเสริมสร้างอำนาจการต่อรอง ส่งเสริมการแปรรูปสินค้า เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์การเกษตร เชื่อมโยงตลาดเกษตรกร สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชน รวมทั้งยกระดับความรู้ความสามารถบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาสถาบันเกษตรกร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งด้านการเงิน การบัญชีให้กับสถาบันเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน ปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ประมาณ 12.80 ล้านคน มีทุนดำเนินงานกว่า 3.56 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าดำเนินธุรกิจสูงถึง 2.23 ล้านล้านบาท จึงเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและมีส่วนสำคัญ ในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจฐานรากได้ ตลอดจนการดำเนินการสนับสนุนองค์ความรู้ทางบัญชีสู่เกษตรกรและประชาชน ให้สามารถทำบัญชีได้ ใช้บัญชีเป็น ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคการเกษตร ที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้เกษตรกรได้อย่างมั่นคง สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง ทำให้รู้จักความพอมี พอกิน พอใช้ คำนึงถึงหลักเหตุผลและการประมาณตนเอง อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต สามารถปรับเปลี่ยนอาชีพให้เกิดความมั่นคง และเป็นโอกาสในการต่อยอดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเกิดภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ ด้านนายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า ในโอกาสกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ครบรอบการสถาปนาปีที่ 69 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะผู้กำกับดูแล ได้มอบนโยบายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ดำเนินการเร่งด่วนใน 3 ด้าน ด้านที่ 1 การตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยเร่งพัฒนางานตรวจสอบบัญชีให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร สามารถจัดทำบัญชีและงบการเงินได้ พร้อมทั้งควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและตามที่ระเบียบกรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการตรวจสอบบัญชีอย่างโปร่งใส ปราศจากการทุจริต สามารถนำผลการตรวจสอบบัญชีและข้อสังเกตจากผู้สอบบัญชีไปแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้การบริหารจัดการของสหกรณ์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือเป็นเครื่องยืนยันให้สมาชิกสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรได้รับทราบข้อเท็จจริงว่าผลประกอบการของสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่นั้นเป็นอย่างไร มีความถูกต้อง เชื่อถือได้ หรือมีผลประกอบการดีหรือไม่ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกทุกคนว่า ได้รับการดูแลจากสหกรณ์เป็นอย่างดี และได้รับผลประโยชน์ที่พึงได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ด้านที่ 2 การให้ข้อแนะนำกำกับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยให้ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ตรวจสอบ การดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรอย่างเคร่งครัด หากตรวจพบข้อบกพร่องใด ๆ ให้เร่งให้คำแนะนำหรือชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหา ข้อบกพร่องต่าง ๆ เพื่อที่สหกรณ์จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ก่อนจะเกิดความเสียหายในอนาคต เป็นการลดความเสี่ยงของสมาชิก พร้อมชี้แนะช่องทางธุรกิจสหกรณ์ที่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ตลาดและการลงทุนในปัจจุบัน เพื่อให้การดำเนินงานของสหกรณ์มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสและเป็นที่พึ่งให้กับสมาชิกอย่างแท้จริง ด้านที่ 3 การถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมการจัดทำบัญชี ทั้งบัญชีครัวเรือน บัญชีต้นทุนอาชีพ รวมไปถึงบัญชีธุรกิจ ไปในทุกกลุ่มเป้าหมาย ให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ โดยให้กรมฯ เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลสอนแนะการทำบัญชีให้เกษตรกร ได้มีความรู้และเข้าใจในการนำระบบบัญชีไปใช้ในการบริหารจัดการภาคการเกษตร รู้รายรับ รายจ่าย รู้เวลาที่เหมาะสม มองเห็นช่องทางในการลดต้นทุนการผลิต ลดรายจ่าย ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและผลิตได้อย่างสมดุลตามกำลังของตนเองและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ช่วยส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงินที่ดี อันเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และต่อยอดไปถึงการทำบัญชีธุรกิจไปยังระดับกลุ่มสหกรณ์และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้กว้างขวางขึ้น เนื่องจากการทำบัญชีธุรกิจจะเป็นกระจกในการสะท้อนข้อมูล ด้านสภาพแวดล้อม ต้นทุน ตลาด ราคาผลผลิต ไปจนถึงมูลค่าสินค้าที่แปรผันในแต่ละห้วงเวลา รวมทั้งสร้างเสริมองค์ความรู้ทางบัญชีสู่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ให้ได้เรียนรู้การจัดทำบัญชี เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินและวางแผนการ จัดระเบียบรายรับ-รายจ่าย สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีบัญชีเป็นภูมิคุ้มกันและคู่มือชีวิต ซึ่งเหมาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจในยุคปัจจุบันที่จำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างมีสติ ไม่ประมาท พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ นโยบายทั้ง 3 ด้าน เป็นเรื่องสำคัญกับความมั่นคงของระบบสหกรณ์และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและประชาชน ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ น้อมรับนโยบายมาสู่การปฏิบัติงานอย่างเร่งด่วน โดยยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินงาน ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ คือ “ภายในปี 2565 สหกรณ์และเกษตรกรมีความเข้มแข็งด้านการเงินการบัญชีที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้” ทั้งในด้านการพัฒนาความเขมแข็งดานการเงินการบัญชีแกสหกรณและสถาบันเกษตรกร โดยการตรวจสอบบัญชีและแสดงความเห็นต่องบการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรตามมาตรฐานการสอบบัญชีและระเบียบ ที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกและผู้ใช้งบการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง การสงเสริมและพัฒนาศักยภาพการจัดทำบัญชีแกเกษตรกร โดยสอนจัดทําบัญชีครัวเรือน บัญชีต้นทุนอาชีพ และบัญชีธุรกิจแกเกษตรกรและประชาชนทั่วไป พร้อมส่งเสริมการใช้แอปพลิเคชัน Smart Me ช่วยในการบันทึกบัญชีได้อย่างสะดวก รวดเร็ว สามารถนำข้อมูลทางบัญชีมาใช้วิเคราะห์ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ลดต้นทุนจากการประกอบอาชีพและสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน สร้างวินัยในการใช้จ่ายและสร้างความเคยชินในการออม ปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีด้านการใช้จ่ายแก่เด็กและเยาวชนไปจนถึงสมาชิกในครอบครัว นำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบศูนยขอมูลสารสนเทศทางการเงินของสหกรณ์ การพัฒนาโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณใหมีประสิทธิภาพ ทันกับสถานการณที่เปลี่ยนแปลงและมีความพรอมการใชงานไดตอเนื่อง รวมไปถึงการพัฒนาเจ้าหน้าที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สู่ความเป็นมืออาชีพ เตรียมความพร้อมสู่การปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรดิจิทัลในอนาคตสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในระดับชาติต่อไป