ภายหลัง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”มีมติเสียงข้างมาก ต่อคำร้องให้วินิจฉัยในอำนาจของรัฐสภา ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ แต่ก่อนจะมีการแก้ไข ต้องถามความต้องการของประชาชน ผ่านการออกเสียง “ประชามติ” ว่าต้องการให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ทำให้เส้นทางของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ “ฝ่ายค้าน” เกินหน้าลุยกำหนดเวลาไว้ภายใน 2 ปี ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องถูกยืดเวลาออกไปอีก อย่างน้อย 4 - 5 เดือน เนื่องจากมีกระบวนการตามแนวศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพิ่มเข้ามาเพราะการ “จัดทำประชามติ” ต้องใช้เวลา ตามที่กำหนดไว้ ตามร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ....ที่คณะกรรมา ธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560พิจารณาเสร็จแล้ว และรอการพิจารณาวาระสอง และวาระสาม ในวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ วันนี้ “สยามรัฐ ออนไลน์” ขอนำเสนอเส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฉบับประชาชน เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีเนื้อหา 16 หมวด 279 มาตรา เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2562 สภาผู้แทนราษฎร มีมติเอกฉันท์ตั้ง กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จำนวน 49 คน ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้รับเลือกให้เป็นประธาน กมธ. ในการประชุมครั้งแรกเมื่อ 24 ธ.ค. 2562 เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้เชิญนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่จัด "แฟลชม็อบ" ในช่วงต้นปี 2563 โดยเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ มาให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2563 กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ส่งมอบรายงานที่มีความหนา 145 หน้า ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ซึ่งเป็นรายงานที่ตั้งข้อสังเกต สะท้อนปัญหา และขอเสนอแนะต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563ที่ประชุมร่วมกัน ของรัฐสภา ได้มีมติเสียงข้างมากให้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2563 สมาชิกรัฐสภาพิจารณาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และร่างฉบับภาคประชาชน ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่า ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน 2 ร่าง ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 5 ฉบับ ของฝ่ายค้าน รวมทั้งร่างฉบับภาคประชาชน ที่เสนอโดยกลุ่ม “ไอลอว์” ถูก “โหวตคว่ำ” ไป เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2564 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอเสนอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) เกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นญัตติที่ “นายไพบูลย์ นิติตะวัน”ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) และ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอเนื่องจากเห็นว่าทำได้เพียงแก้ไขรายมาตราเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมสภามีมติเสียงข้างมากให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสามารถตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2564 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องที่รัฐสภาขอให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จนกระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2564 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกให้ประชาชนลงมติ ว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สอง เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติ ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่