ส.ป.ก. จับมือ กรมป่าไม้ จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พร้อมด้วยนายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองเลขาธิการ ส.ป.ก. ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กับนายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ และนายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล รองอธิบดีกรมป่าไม้ โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดร่วมลงนามในครั้งนี้ ดร.วิณะโรจน์ กล่าวว่า จากการปลดล็อคมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ.2484 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ที่อนุญาตให้สามารถปลูกไม้หวงห้ามในเขตปฏิรูปที่ดินได้ ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินหันมาปลูกไม้เศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งสร้างรายได้และเป็นมรดกให้กับลูกหลานในอนาคต” ซึ่ง MOU ดังกล่าวนี้ ส.ป.ก. และกรมป่าไม้มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย โดยที่ผ่านมา ส.ป.ก. ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเต็มศักยภาพควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ รวมถึงการบริหารทรัพยากร การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และรักษาพื้นที่เกษตรกรรมในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน อาทิ โครงการวนเกษตร โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และความร่วมมือกับกรมป่าไม้ในครั้งนี้จะเป็นอีกแรงเสริมหนึ่งที่จะมาช่วย ส.ป.ก. ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในเขตปฏิรูปที่ดินผ่านการปลูกป่าชุมชนและปลูกไม้มีค่าเพื่อเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และร่วมสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ สำหรับแนวทางในอนาคต ส.ป.ก. จะได้ร่วมมือกับองค์การอุตสากรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ในการจัดหาช่องทางการตลาดเพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งจำหน่ายไม้เศรษฐกิจรวมถึงการส่งเสริมการแปรรูปไม้และการผลิตพลังงานจากเศษใบไม้กิ่งไม้ โดยระหว่างการปลูกไม้เศรษฐกิจเกษตรกรยังสามารถจำหน่ายคาร์บอนเครดิตผ่าน อ.อ.ป. เพื่อเป็นอีกแหล่งรายได้หนึ่งได้ด้วย ขณะที่กรมป่าไม้พร้อมที่จะสนับสนุนพันธุ์กล้าไม้คุณภาพดี อาทิ พะยูง สัก ยางนา ชิงชัน ประดู่ โดยพี่น้องเกษตรกรสามารถติดต่อขอรับได้ที่ศูนย์/สถานีเพาะชำพันธุ์กล้าไม้ กรมป่าไม้ ทั่วประเทศ “อย่างไรก็ตาม ส.ป.ก. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจในวันนี้จะเป็นนิมิตหมายอันดีในการเริ่มต้นการทำงานร่วมกันอย่างเป็นทางการ อันจะนำไปสู่การเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ พร้อมเพิ่มศักยภาพพื้นที่เกษตรกรรมในเขตปฏิรูปที่ดิน ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนต่อไป”ดร.วิณะโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย