อธิบดีกรมชลฯ ย้ำผักตบชวาต้องเรียบตามแผนก่อนฤดูน้ำหลาก เผยเป็นภารกิจสำคัญ ระดมเครื่องจักรเต็มพื้นที่ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อการแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืช ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธาน กรมชลประทานได้รายงานผลการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชตามนโยบายที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งมีแผนการจัดเก็บผักตบชวาที่ชัดเจนในพื้นที่รับผิดชอบของกรมชลประทาน ปัจจุบันสามารถดำเนินการจัดเก็บผักตบชวาได้ตามแผนที่วางไว้ “กรมชลประทานให้ความสำคัญกับการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งนำนโยบายของรัฐบาลมากำหนดเป็นแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ โดยการกำหนดพื้นที่รับผิดชอบให้สำนักงานชลประทานอย่างชัดเจน มีการแบ่งเป็นการเก็บใหญ่และการเก็บเล็กรวมไปถึงการติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดเป็นการปฏิบัติตามข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรีและข้อสั่งการของพล.อ.ประวิตรฯ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งแผนงานนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญและติดตามการทำงานต่อเนื่อง ขณะนี้ผมได้สั่งระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าเสริมการทำงานในพื้นที่แล้ว”อธิบดีกรมชลฯกล่าว ในการนี้ กรมชลประทาน โดยสำนักวิจัยและพัฒนา ได้ผลิตนวัตกรรมในการลดปริมาณของผักตบชวาโดยการนำทุ่นยางพารามาใช้ควบคุมการเคลื่อนที่ของผักตบชวาในลำน้ำ และยังมีสาร สวพ. 62 RID-No.1 สารกำจัดผักตบชวาในบริเวณที่เครื่องจักรกลไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์จากผักตบชวาสดมาทำปุ๋ยหมัก และปุ๋ยน้ำหมัก ช่วยเพิ่มคุณภาพของชั้นดินได้ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าของผักตบชวาแห้ง โดยการแปรรูป อาทิ ไม้อัดจากผักตบชวา อาหารสัตว์อัดเม็ด และ Weed Ball ซึ่งสอดคล้องกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ที่จัดทำโครงการต้นแบบการผลิตปุ๋ยจากผักตบชวา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งกรมชลประทานได้สนับสนุนการก่อสร้างโรงงานทำปุ๋ยจากผักตบ และใช้พื้นที่เขื่อนเจ้าพระยาทำลานตาก พร้อมสนับสนุนผักตบชวาสด นอกจากนั้นได้ร่วมกับศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรทำปุ๋ยอินทรีย์จากผักตบชวา ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้มีแผนงบประมาณในการดำเนินงานปี 2564 วงเงิน 148 ล้านบาท เป้าหมายกำจัดผักตบและวัชพืช 2,792,685 ตัน พื้นที่ 20,387 ไร่ โดยทางน้ำทั้งหมดในประเทศ 522,456 กิโลเมตรเป็นทางน้ำในการดูแลของกรมชลประทาน 49,676 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 9.51 ประกอบด้วยคลองส่งน้ำ 27,450 กิโลเมตร คลองระบายน้ำ 11,190 กิโลเมตร แม่น้ำและคลองธรรมชาติ 11,036 กิโลเมตร ด้านศักยภาพเครื่องจักรกลของกรมชลประทาน มีเครื่องจักรสำหรับงานกำจัดวัชพืช จำนวน 190 คันประกอบด้วย รถขุดตีนตะขาบ แบบแขนยาว จำนวน 107 คัน เรือขุดแบบปูตัก จำนวน 31 คัน เรือกำจัดวัชพืช จำนวน 52 คัน สามารถกำจัดวัชพืชได้ประมาณ 55,645 ตันต่อวัน