วันที่ 10 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิสาหกิจชุมชนเพื่อเศรษฐกิจทางเลือกจังหวัดสตูล ร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านเขาแดง อำเภอทุ่งหว้า(อ่านว่า ทุ่ง-ว่า) จังวัดสตูล โดย นายประชา หนูหมาด ผอ.รพ.สต.บ้านเขาแดง ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตครอบครองและปลูกกัญชาทางการแพทย์ ทำ MOU โครงการการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยทำโรงเรือนปลูกขึ้นที่วิสาหกิจชุมชนเพื่อเศรษฐกิจทางเลือกจังหวัดสตูล หมู่ 5 ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ขณะนี้ต้นกัญชาเริ่มโต มีใบสวยงาม โดยในส่วนของช่อดอกทางวิสาหกิจชุมชนต้องส่งให้กับกรมการแพทย์ ในโอกาสนี้ทางวิสาหกิจชุมชนฯ โดย นายวณัชพันธุ์ เหล่าวทัญญู ประธานวิสาหกิจชุมชนเพื่อเศรษฐกิจทางเลือกจังหวัดสตูล ได้เปิดโรงเรือนให้ชมการเจริญเติบโตของต้นกัญชาที่มีอายุ 1 เดือนเศษ ซึ่ง นายพีรพัฒน์ เงินเจริญ นายอำเภอทุ่งหว้า นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.เขต 2 คณะสื่อมวลชน เข้าชมโรงเรือนปลูก ที่มีการดูแลความปลอดภัยอย่างรัดกุม มีกล้องวงจรปิดทุกมุม ในส่วนของกระบวนการปลูกมีการดูแลอย่างดี ในอุณหภูมิที่เหมาะสม สำหรับ วิสาหกิจชุมชนเพื่อเศรษฐกิจทางเลือกจังหวัดสตูล เริ่มปลูกต้นกัญชา พันธุ์ไทยหางกระรอก (sativa) ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยได้โควต้าในการปลูก 2 รอบ รอบละ 50 ต้น ในพื้นที่โรงเรือนขนาด 6*12 เมตร พื้นที่ทั้งหมด 10*20 เมตร ทางวิสาหกิจชุมชนสามารถใช้ประโยชน์หรือจำหน่าย ใบ/กิ่ง/ราก/ลำต้น ส่วนดอกเมื่อโตเต็มที่ ให้ส่งมอบกับทางหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในพื้นที่ จ.สตูล ขณะนี้ มีคลีนิคกัญชา จำนวน 3 แห่ง คือ 1. โรงพยาบาลละงู 2. โรงพยาบาลสตูล 3. โรงแรมทุ่งหว้า (จะทำการเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 24 มี.ค.2564นี้) นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.เขต 2 กล่าวว่า ที่นี่ถ้านับจริงๆแล้วน่าจะเป็นอันดับแรกๆของประเทศ ที่ปลูกไปก่อนก็จะเป็นที่พัทลุง ของเราก็น่าจะตามมาเป็นอันดับที่ 2 ในสตูลก็จะมี 2 ที่ ที่ได้รับอนุญาตตอนนี้ก็คือที่นี่และที่โตนปาหนัน แต่ที่โตนปาหนันนั้นยังไม่ได้ปลูก ในส่วนของความปลอดภัยต้องมีรั้วรอบขอบชิด ในการเข้าไปก็มีการสแกนลายนิ้วมือทุกคน การเข้าจะมีการจำกัดการเข้าไปในแปลงจะมีแค่ 4-5 คนที่มีหน้าที่ดูแลเท่านั้น บริเวณโดยรอบก็จะมีกล้องวงจรปิดทุกมุม 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ที่ปลูกมายังถือว่าดีไม่มีอะไรที่ทำให้รู้สึกกังวล ด้วยทางท่านรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือรองนายกรัฐมนตรี ก็ค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก พยายามที่จะผลักดัน วันนี้ที่เราเห็นเป็นวิสาหกิจชุมชน รวมตัวกันร่วมกับทางโรงพยาบาล รพ. สตทางภาคปกครอง เพื่อที่จะปลูกกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งในเฟส 2 เราก็จะมีการขยับจะไม่ได้อยู่เป็นวิสาหกิจแบบนี้แล้ว จะเริ่มเอาลงไปปลูกที่บ้านของพี่น้องประชาชนที่มีความต้องการ แต่ในส่วนของที่จะปลูกที่ไหนก่อนอันนี้ก็จะว่าไปตามแผนที่ทางสาธารณสุขเขาวางแผนไว้ การที่จะเข้ามาชมตอนนี้ก็ต้องดูเป็นเคสๆไป แต่ว่ายังไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้ เพราะยังเป็นพืชที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนพอสมควร ทั้งเรื่องความปลอดภัยด้วย ถ้าเข้ามาเป็นเคสก็ติดต่อเข้ามาได้ แต่ในอนาคตอาจจะมีการเปิดให้เข้าชม ในส่วนของทั่วไป เดี๋ยวจะดูมาตรการอีกทีนึง จะทำอย่างไรถึงจะเหมาะสมที่สุด นายวณัชพันธุ์ เหล่าวทัญญู ประธานวิสาหกิจชุมชนเพื่อเศษฐกิจทางเลือกจังหวัดสตูล (เสื้อดำ ) กล่าวว่า ณ วันนี้ เราปลูกกัญชาเพื่อที่จะไปรักษาไปเป็นยา ทุกๆอย่างเราจำเป็นต้องทำตาม medical Grade ตามที่กรมการแพทย์กำหนดให้เราทำ คือทางอย.กำหนดอะไรบ้าง เช่นห้าม มีสารที่ถูกแบน 4 สาร ยาฆ่าแมลงต่างๆ ยาทำลายวัชพืชต่างๆ ห้ามมีโลหะหนัก และห้ามมีแมลงต่างๆ เพราะกัญชา เป็นต้นไม้ที่ดูดซับสารเคมีได้ดีมาก ทำให้จุดจุดนี้เราต้องพิถีพิถัน ในการที่จะดูแล นั่นหมายถึงต้องเลี้ยงให้อยู่ในโรงเรือน น้ำที่เราใช้ต้องเป็นน้ำที่บำบัดมาแล้ว มีค่า pH ที่เหมาะสม อุณหภูมิภายในก็ต้องเหมาะสม ถ้าร้อนเกินไปต้นไม้ก็จะเครียดมาก ซึ่งจะต้องควบคุมอุณหภูมิสร้างโรงเรือน เพื่อให้ใบคายน้ำได้ดี ทำให้ดูดสารอาหารได้เยอะขึ้น ทำให้ต้นโตดีขึ้น และยังมีเทคนิคอีกมากมายที่จะต้องใช้ในการปลูก สำหรับพื้นที่ปลูกภายในโรงเรือน 6 คูณ 12 เมตรคือ 72 ตารางเมตร พื้นที่โดยรวมภายในรั้วกั้นเป็นพื้นที่ 200 ตารางเมตร นายประชา หนูหมาด ผอ.รพ.สต. (ผู้ได้รับอนุญาติครอบครองและปลูกกัญชาทางการแพทย์) กล่าวว่า ในส่วนของช่อดอกนั้นกรมการแพทย์จะมารับเอง สำหรับที่นี่ถือว่าถูกต้องเพราะมีการได้รับใบอนุญาตในการครอบครอง และการปลูก สรรพคุณเบื้องต้นจะมีการสกัดเป็นน้ำมัน รักษากลุ่มที่เป็นอัลไซเมอร์ นอนไม่หลับ ในส่วนที่อันตรายก็จะมีสารเมาซึ่งอยู่ในส่วนของช่อดอก ซึ่งส่วนของช่อดอกนี้จะส่งไปทางกรมการแพทย์ ส่วนอื่นๆต้องดูมาตรการว่า สามารถให้ดำเนินการได้แค่ไหน นายพีรพัฒน์ เงินเจริญ นายอำเภอทุ่งหว้า (เสื้อเหลือง ) กล่าวว่า ความจริงแล้วการปลูกกัญชาเป็นพืชทางเลือกและแพทย์ทางเลือก ในการรักษาและอีกอย่างเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ของทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองนายกรัฐมนตรี ในส่วนของการปลูกต้องมีคณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาพื้นที่ มาตรวจสอบพื้นที่ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว จังหวัดก็จะมีหนังสือสั่งการให้อำเภอในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เข้าตรวจสอบกำกับดูแล ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงการ ก็จะรายงานสรุปทุกวันที่ 1 ของเดือนให้นายอำเภอได้รับทราบ กรณีของอำเภอก็ยังมองว่าชาวบ้านให้ความสนใจในหลายๆหมู่บ้านหลายๆตำบล แต่กลุ่มวิสาหกิจของที่ทำที่นี่ ผมว่าเป็นพื้นที่นำร่องซึ่งต่อไปมันคงจะแพร่ขยายไปทุกหมู่บ้านตำบลในพื้นที่ เพราะเป็นพืชทางเลือกซึ่งเราก็ทราบอยู่แล้วว่ามันไม่ได้มีรายได้เฉพาะช่อดอก ทั้งก้าน ใบ ลำต้น ราก 5 สิ่ง ประกอบกันมันทำมูลค่าได้หมด ทางรัฐบาลส่งเสริมให้มีการปลูกส่วนหนึ่งก็เป็นการเสริมรายได้ ให้กับกลุ่มวิสาหกิจในพื้นที่ อีกส่วนหนึ่งเป็นแพทย์ทางเลือก พืชทางเลือกที่ทางโรงพยาบาล ตอนนี้โรงพยาบาลทุ่งหว้า ก็มีคลินิกกัญชา รักษาโรคเกี่ยวกับคนที่มีอาการไม่ว่าจะเป็นอัลไซเมอร์ มะเร็ง และโรคพาร์กินสัน ซึ่งทุ่งหว้าก็จะให้บริการในวันอังคารแรกของเดือน แล้วก็ ทราบว่าทางจังหวัดสตูล ตอนนี้มี 3 โรงพยาบาลคือ โรงพยาบาลสตูล และโรงพยาบาลละงู และโรงพยาบาลทุ่งหว้า เป็นพื้นที่นำร่องทั้ง 3 โรงพยาบาลในการรักษา เป็นคลินิกกัญชารักษาโรค ในส่วนของระบบรักษาความปลอดภัย ของวิสาหกิจชุมชน เป็นมาตรฐานมีกล้อง ซึ่งจุดนี้น่าจะเกิน 20 ตัว ในการดูแลโดยรอบและมีรั้วรอบขอบชิด มีการตั้งตู้แดงซึ่งจะมีตำรวจสายตรวจ 2 0 เข้ามาตรวจเป็นระยะ กรณีที่มีการเคลื่อนไหวใดๆทางประธานวิสาหกิจ ก็จะแจ้งมายังอำเภอตลอด ผมมองว่าตอนนี้พอทางกฎหมายปลดล็อกกัญชามันก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งเพิ่มมูลค่าเป็นพืชทางเลือกที่ชาวบ้าน มีสิทธิ์ที่จะทำ ตอนนี้เฉพาะที่มาปรึกษาในอำเภอมี 7 แห่ง ก็มองว่าต้องดูจากจุดนี้ว่ามันสามารถเดินต่อไปได้ไหมเพราะกระบวนการมันไม่ได้ง่ายแค่ปลูกแล้วขาย มันยังมีเรื่องมาตรการป้องกัน คนลักลอบเอากัญชาที่ปลูกไปใช้ในทางที่ผิด รวมถึงการใช้กัญชาเกี่ยวกับอาหารซึ่งตอนนี้ก็มีการขายแล้ว ต่อไปทางวิสาหกิจก็ดูรูปแบบนี้ใบรากต้นก็เอาไปใช้ได้ก็คงจะสร้างมูลค่าเพราะการลงทุนค่อนข้างสูง