“เมื่อผู้บังคับบัญชามอบหมายอะไร เราต้องทำให้เต็มที่ เรามีความซื่อสัตย์ สุจริต สนองตอบต่องานที่ผู้บัญชาบัญชาสั่งการให้สำเร็จ ซึ่งตัวเราเองจะนักปฏิบัติมากกว่ายึดตามทฤษฎี แต่ก็ยึดถือหลักการต่าง ๆ แต่บางครั้งหลักการกับความเป็นจริงต่างกัน ก็ต้องนำมาปรับใช้ให้งานประสบความสำเร็จ” วันนี้ “รื่นรมย์คนการเมือง” ขอพาไปนั่งย้อนวันวานกับ “พล.อ.อดุลยเดช อินทะพงษ์” รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อสมัยที่ยังรับราชการทหาร ก่อนที่จะมาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะสนช. จากกลาโหม สู่ “สนช.” พล.อ.อดุลยเดช เล่าถึงที่มาที่ไป ของการตัดสินเข้ามาทำหน้าที่สนช.ว่า ก่อนหน้าที่จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตอนนั้นทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กระทรวงกลาโหม เราเองก็ไม่ทราบมาก่อนเลยว่าจะได้เป็นสนช. เพราะผู้บังคับบัญชาเป็นคนส่งรายชื่อไป และเมื่อเข้ามาทำหน้าที่สนช. จึงทำให้เราต้องศึกษางานด้านกฎหมาย ซึ่งยอมรับว่า เรื่องกฎหมายจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ทั้งนี้อยู่ที่เราว่าได้เตรียมข้อมูลในเรื่องนั้น ๆ มากน้อยเท่าใด เพราะเราจะทราบอยู่ก่อนแล้วว่าจะมีกฎหมายอะไรเข้ามาบ้าง ถ้าตัวเราเองมีความเหมาะสมในการแปรญัตติกฎหมายฉบับไหน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาข้อมูล การเข้ามาทำหน้าที่สนช.ถือเป็นโอกาสและประสบการณ์ที่ดี ทำให้เราเองรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับใช้ประเทศชาติ ในทางนิติบัญญัติ โดยที่ผ่านมาที่ประชุมสนช.ได้ผ่านกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนด้วยกันหลายฉบับ ให้หมดใจ “อาร์มี ยูไนเต็ด” ก่อนหน้าที่พล.อ.อดุลยเดช จะมาทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ เขารับราชการทหาร ซึ่งหน้าที่ส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องเรื่องการเงิน การบัญชี งบประมาณ ทั้งในตำแหน่งรองเจ้ากรมการเงินทหารบก เจ้ากรมการเงินทหารบก และเจ้ากรมการเงินกลาโหม และตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการก็เป็น ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กระทรวงกลาโหม และอีกบทบาทหนึ่งที่พล.อ.อดุลยเดช ทำมาในสมัยเป็นทหาร คือการได้เป็นผู้จัดการทีม“อาร์มียูไนเต็ด” ทีมฟุตบอลของทหารบก โดยก่อนที่จะมาเป็น อาร์มียูไนเต็ด ขณะนั้นเป็นทีมฟุตบอลทหารบก ซึ่งเข้ามาบริหารจัดการตั้งแต่ทีมฟุตบอลทหารบกตั้งแต่อยู่ในดิวิชั่น 1จนได้เป็นแชมป์ดิวิชั่น 1ในสมัยนั้น และเลื่อนขึ้นสู่ไทยพรีเมียร์ลีก ซึ่งเป็นลีกสูงสุดของประเทศจนถึงปัจจุบัน และชนะเลิศกีฬากองทัพไทย ซึ่งเป็นสถิติที่ดีสุด และปัจจุบันยังไม่มีใครทำแชมป์แบบเราได้ “ตอนที่เป็นผู้จัดการทีม บริหารทีมฟุตบอลด้วยความเป็นธรรมและการเอาใจใส่เขา เพราะกีฬาเราต้องให้ใจซึ่งกันและกัน สมัยนั้นกว่าผมจะกลับบ้านได้ ต้องอยู่ดูนักกีฬาฝึกซ้อม รับประทานอาหาร และดูจนเขาเข้านอน ผมถึงกลับบ้านได้ เช้าก็มาแต่เช้า มีอะไรที่เดือดร้อนก็ต้องดูแล” ไม่เพียงแต่ พล.อ.อดุลยเดช จะเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลแค่นั้น ในสมัยเรียนมัธยมที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เขายังได้เป็นกองหน้าของทีมฟุตบอลโรงเรียน และเข้าแข่งขันวิ่ง ในทีมวิ่งผลัด 4 คูณ 100 ซึ่งกรมพละศึกษาเป็นผู้จัด ที่สนามกีฬาแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย) จนได้ที่ 2 มาครอง ถึงตรงนี้ เราก็อดไม่ได้ ว่า บางครั้ง เคยได้ยินพล.อ.ประยุทธ์ ให้โอวาทกับนักกีฬาไทย ก่อนจะไปแข่งขันในต่างประเทศ มักที่จะบ่นทีมอาร์มี่ยูไนเต็ด ทั้งเรื่องไม่ค่อยได้เป็นแชมป์ หรือการที่นักเตะไม่ค่อยไม่มีเวลา เพราะต้องทำหน้าที่ทหาร พล.อ.อดุลยเดช อมยิ้มพร้อมบอกเราว่า เมื่อครั้งท่านนายกฯ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ท่านนายกฯ ให้ความใส่ใจในทุกชนิดกีฬา ทั้งมวยและฟุตบอล อย่างเรื่องฟุตบอล ท่านนายกฯ ให้ความสนใจเพราะเป็นคนริเริ่ม ซึ่งช่วงนั้นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจากมือสมัครเล่นเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ภูมิใจในหน้าที่ พล.อ.อดุลยเดช เล่าย้อนวันวานว่า ตอนเรียนจบที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ก็ไปทำงานป้อง กันแนวชายแดน ภาคตะวันออก จ.ปราจีนบุรี และจ.สระแก้ว และทำงานในโครงการพระราชดำริ ช่วงนั้นมีความสุขและรู้สึกว่าสนุกมาก ซึ่งได้อยู่ชายแดนจนได้ตำแหน่งพันตรี ก็เริ่มเข้ามาเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และเข้ามาอยู่ในกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ตอนที่อยู่ชายแดนได้ทำงานในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดสระแก้ว-ปราจีนบุรี ตามพระราชดำริ ซึ่งสมัยก่อนนั้นพื้นที่ตรงนี้มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ พ.ศ.2522-2523 ซึ่งมีหน่วยงานทหารเข้าไปสลับสับเปลี่ยนไปทำหน้าที่เพื่อปรับปรุงพื้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธนาคารโค-กระบือ การสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้อยู่ดีกินดีมากขึ้น “ผมอยู่ในเหตุการณ์ปี 2526 ที่เวียดนามได้ส่งกำลังโจมตีค่ายอพยพชาวกัมพูชา ซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านหนองจาน อ.ตราพระยา จ.ปราจีนบุรี ทำให้ชาวกัมพูชาหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นผมต้องปกป้องชายแดนให้ได้” ความรู้สึกในตอนนั้น ด้วยความที่คึกคะนองเป็นทหารหนุ่ม ๆ ก็รู้สึกว่ามีหากเป็นทหารไม่ได้ออกรบ ก็เหมือนกับขาดอะไรไป ซึ่งเมื่อก่อนภารกิจการป้องกันแนวชายแดนแตกต่างจากปัจจุบัน เพราะต้องใช้กำลังทหารไปวางตามจุด ทำให้มีความผูกพัน และการที่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ก็ดีกว่าอยู่ในหน่วยงานปกติ และมีความภาคภูมิใจที่อยู่ในเหตุการณ์ตอนนั้น “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม”คนต้นแบบ สำหรับแนวคิดในเรื่องของการทำงานนั้น พล.อ.อดุลยเดช บอกว่า เมื่อผู้บังคับบัญชามอบหมายอะไร เราต้องทำให้เต็มที่ เรามีความซื่อสัตย์ สุจริต สนองตอบต่องานที่ผู้บัญชาบัญชาสั่งการให้สำเร็จ ซึ่งตัวเราเองจะนักปฏิบัติมากกว่ายึดตามทฤษฎี แต่ก็ยึดถือหลักการต่าง ๆ แต่บางครั้งหลักการกับความเป็นจริงต่างกัน ก็ต้องนำมาปรับใช้ให้งานประสบความสำเร็จ เมื่อเราถามว่า มีใครเป็นบุคคลต้นแบบ เจ้าตัวบอกด้วยความปลื้มใจ ว่า ในฐานะทหาร ก็ชอบการทำงานของท่านนายกฯ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องจากได้มีโอกาสสัมผัส และเห็นท่านนายกฯ มาตั้งแต่ยังเป็นพันตรี เห็นการทำงานของท่าน ท่านมีความตั้งใจ ทำงานอย่างมุ่งมั่น เห็นแก่ประเทศชาติ “ ผมได้คุยกับเพื่อนๆ หลายคน ว่าท่านประวิตร ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานไหน หน่วยนั้นจะมีความก้าวที่เป็นรูปธรรม เช่นการดูแลเรื่องของสวัสดิการต่าง ๆ” พล.อ.อดุลยเดช เล่าถึงการแบ่งเวลาให้กับครอบครัว เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ หากครอบครัวดีแล้ว เราจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ อย่างช่วงเวลาสุดสัปดาห์ จะพาครอบครัวไปพักผ่อนที่บ้านพัก จ.นครราชสีมา หรือพาไปเที่ยวทะเลที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และตอนนี้มีหลาน 3 คน เวลาที่เราก็จะอยู่บ้านก็จะมีความสุขดี