ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง กว่าจะมาเป็นผ้าย้อมครามผืนสวยทั้งผืน ผ้าซิ่นอิ่มด้วยสีคราม ต้องมีความละเมียดและเอาใจใส่รายละเอียดทุกขั้นตอน สุดสัปดาห์นี้พาผู้อ่านไปสัมผัสผ้าย้อมครามถิ่นสว่าง บ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม ที่ภูมิปัญญาบรรพบุรุษสร้างรังสรรค์ไว้เป็นมรดกสู่ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัดสกลนคร จังหวัดสกลนครในเรื่องผ้าย้อมครามแล้วจัดว่ามีชื่อเสียงในภาคอีสาน ทั้งจัดว่าเป็นผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์หน้าตาของจังหวัดทีเดียว ดูได้จากผู้คนท้องถิ่นนิยมสวมใส่ผ้าฝ้ายย้อมครามในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงออกงานต่างๆ ไม่ว่างานบุญประเพณี งานสังคมเชิงวัฒนธรรม ต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยียนถิ่นก็ตาม ส่วนผู้มาเยือนอดไม่ได้ที่จะแวะเข้าร้านผ้าหรือมุ่งตรงไปที่แหล่งผลิตผ้าย้อมคราม เลือกซื้อผืนผ้าหลากหลาย ทั้งผ้าซิ่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าเช็ดหน้า เสื้อสำเร็จรูป ไปจนถึงสินค้าที่ระลึก กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ หมวก ย่าม และอีกนานาภัณฑ์ที่ทำมาจากฝ้ายย้อมคราม ซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านกัน ด้วยเพราะเนื้อผ้าย้อมครามนุ่มละเอียดมือยามสัมผัส อีกกล่าวกันว่า ผ้าที่ย้อมด้วยครามมีคุณสมบัติพิเศษ ป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลต (UV) ช่วยรักษาผิวหนังไม่ให้แสงแดดทำลายเมื่อสวมใส่ นอกจากนี้ ต้นครามมีคุณสมบัติเป็นยาสมุนไพร รักษาโรคผิวหนังเมื่อนำไปเป็นยาหม้อ หรือห่อตัวยานำไปนึ่ง หรือตั้งไฟ เพื่อประคบรักษาคนไข้ได้อีกด้วย ผ้าย้อมครามสกลนคร สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนในหลายท้องถิ่นอย่างมาก ทั้งในตำบลธาตุเชิงชุม ตำบลห้วยยาง อ.เมือง ตำบลสามัคคีพัฒนา อ.อากาศอำนวย โดยเฉพาะที่อำเภอพรรณานิคม มีหลายหมู่บ้านถักทอผ้าย้อมครามสร้างเป็นอาชีพ (ตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าในชื่อต่างๆ) ควบคู่ไปกับอาชีพทำนาและเลี้ยงสัตว์ อย่างที่ได้ไปดูชุมชนทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย หมู่ที่ 2 ตำบลสว่าง จากปากซอยถนนใหญ่ลึกเข้าไปเป็นถนนลูกรังยาวต่อเนื่องราว 7 กิโลเมตร ที่ไม่เคยร้างไปจากร่องรอยของล้อรถยนต์ต่างเมืองแวะเวียนเข้าไป แล่นผ่านท้องนาข้าวเขียวขจี (หน้าฝน) สองข้างทาง เมื่อเข้าเขตหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตสั้นๆ สุดทางของที่ตั้งชุมชนทอผ้าบ้านดอนกอย ที่นี่จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนแหล่งเรียนรู้ผ้าย้อมคราม มีคุณถวิล อุปรี ประธานกลุ่มฯ สตรีผู้มีจิตใจมุ่งมั่นคืนชีวิตให้ผ้าย้อมครามแท้ทั้งผืน มรดกภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น สมบัติอันล้ำค่าจากบรรพบุรุษที่ใช้ธรรมชาติของต้นครามมาทำสีย้อมบนเส้นใยผ้า จึงได้ก่อตั้งกลุ่มฯ ขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มีสมาชิก 9 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 45 คน (ส่วนใหญ่ผู้หญิงวัยกลางคนและผู้สูงอายุ) ทำหน้าที่ของแต่ละสายงานกระบวนการผลิต ตั้งแต่เส้นทางปลูกต้นคราม (พืชตระกูลถั่ว ปลูกตามหัวไร่ปลายนา ชายป่า) เก็บเกี่ยวใบคราม คัดกรอง(ใบสีเขียวเข้มทำให้เนื้อครามสวย)ใบครามแช่น้ำ จนไปสู่กรรมวิธีการย้อมคราม ก่อหม้อ(หม้อต้ม)น้ำคราม ย้อมครามเส้นใยฝ้าย มัดลาย ออกแบบลาย ถักทอ(กี่) ตัดเย็บ ออกมาเป็นผ้าย้อมครามผืนงาม แน่นอนว่า กว่าจะมาเป็นผ้าย้อมครามผืนสวยทั้งผืน ผ้าซิ่นอิ่มด้วยสีครามของบ้านดอนกอย กลุ่มสมาชิกต้องมีความละเมียดและเอาใจใส่รายละเอียดทุกขั้นตอนกระบวนการผลิตก่อนสู่ท้องตลาด หรือลูกค้าที่สั่งจองผ้าผืนงามไว้ล่วงหน้าเป็นเดือนๆ ด้วยที่ต้องรอกลุ่มสมาชิกหลังเก็บเกี่ยวข้าวเดือนพฤศจิกายนแล้วเสร็จ จะมารวมกลุ่มกันทำผ้าย้อมครามกัน ไปจนถึงเดือนมิถุนายนของปีหน้า “ถึงแม้ว่าการทำผ้าย้อมคราม ดูไม่ได้แตกต่างไปจากหมู่บ้านอื่นๆ ในจังหวัดสกลนครที่ทำก็ตาม แต่ในความเป็นผ้าย้อมครามของบ้านดอนกอยนั้น อยู่ตรงที่เส้นฝ้ายทางพุ่งและทางยืนใช้ฝ้ายย้อมครามธรรมชาติตลอดเส้น เมื่อมือสัมผัสเนื้อผ้าแล้วนิ่ม เวลานำไปตัดเย็บเสื้อสวมใส่จะพลิ้ว ดูสวย สะดุดตา อีกจุดเด่นคือ สีไม่ตก มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และสามารถป้องกันแสง UV ได้” ตัวแทนกลุ่มสมาชิกบอกลักษณะความต่างให้เห็น สอดคล้องคำขวัญของกลุ่ม “ผ้าครามน้ำดี มัดหมี่สะดุดตา เลิศล้ำคุณค่า ภูมิปัญญาบ้านเฮา” และเมื่อดูราคาผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย สามารถจับต้องซื้อหาได้ มีตั้งแต่ผืนละร้อยไปจนถึงเมตรละ 550 บาท ผ้าลายหมี่สี่ตะกอ สองตะกอ หรือจะเป็นลายดั้งเดิม ลายนกนางแอ่น ลายดอกจำปา ฯลฯ หากเทียบกับการใช้เวลากว่าจะมาเป็นผ้าย้อมครามผืนงามสักผืนหนึ่ง ถักทอด้วยกี่แล้วราคาขายช่างน้อยนิดนัก แน่หล่ะ ผ้าย้อมครามไม่เพียงแค่ช่วยสร้างอาชีพ เพิ่มมูลค่ารายได้ให้กับคนในชุมชนเท่านั้น แต่ยังนำมาความภาคภูมิใจและอิ่มเอมใจที่คนในชุมชนได้สืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ มรดกตกทอดกันมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่นในปัจจุบัน งามจรดผืน ผ้าย้อมครามถิ่นสว่าง บ้านดอนกอย สกลนคร