วันที่ 7 มี.ค.64 นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเส้นทางของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนสำเร็จเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ จะต้องฝ่าฟันในอีก 5 ด่านสำคัญ คือ ด่านแรกสุด : ศาลรัฐธรรมนูญ – นัดอ่านคำวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 11 มีนาคมนี้ ด่านที่สอง : ที่ประชุมรัฐสภา จะต้องลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระ 3 จะต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 84 เสียง ด่านที่สาม : ต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชนโดยต้องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้ต้องมีผู้มาใช้สิทธิมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และก.ม.ประชามติยังมีเงื่อนไขสำคัญนอกจาก ผู้มาใช้สิทธิต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว คะแนนเห็นชอบต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิอีกด้วย ด่านที่สี่ : หลังจากรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมผ่านประชามติและประกาศใช้ ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คนโดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งในลักษณะเดียวกับเลือกตั้ง ส.ส. มีส.ส.ร. ได้เขตละคน เป็นไปได้ว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ร. จะไปเกี่ยวพันกับอำนาจหรืออิทธิพลในท้องถิ่น รวมไปถึงการโยงใยกับการเมืองในระดับชาติ สุดท้าย ด่านที่ห้า : เมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ จะต้องให้ประชาชนเห็นชอบโดยต้อง ทำประชามติอีกครั้ง ในเงื่อนไขเดียวกับด่านที่สาม หากผ่านประชามติก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายชูศักดิ์ ชี้ว่า “ด่านที่สำคัญที่สุด” จะอยู่ในสองด่านแรก คือคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าจะสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ และการลงมติในวาระที่ 3 ของที่ประชุมรัฐสภาซึ่งต้องให้ ส.ว.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม คือไม่น้อยกว่า 84 คน เห็นชอบด้วย หากผ่านด่านนี้ไปได้จึงจะมี “ส.ส.ร.” ที่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมาทำหน้าที่ยกร่าง “รัฐธรรมนูญของประชาชน” ที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ยกร่างจากประชาชน มีบทบัญญัติที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน นายชูศักดิ์ ให้เหตุผลหักล้างเกี่ยวกับกระบวนการโต้แย้งคัดค้าน ขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ ว่า “ต้องถามว่าท่านมีความจริงใจอย่างแท้จริงที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ2560 หรือไม่ จริงๆแล้วท่านได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะท่านยอมรับเองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ designed มาเพื่อพวกเรา ที่ต้องแก้เพราะถูกบีบบังคับจากสถานการณ์ทางการเมือง จากกระแสสังคมหรือไม่ ที่ผ่านมาประชาชน ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ได้เสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาโดยให้มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนถึงขั้นผ่านร่างมาจนเข้าสู่วาระที่สอง อยู่ๆท่านเกิดสงสัยในอำนาจของตนเองขึ้นมาแล้วไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจที่ตนมี ทั้งที่ท่านล้วนเป็นผู้เสนอญัตติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยวิธีนี้ จึงทำให้นึกย้อนอดีตว่า จริงๆแล้วท่านแสดงออกทั้งโดยตรงและปริยายมาหลายครั้งตลอดมาว่าท่านไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะแก้ไขแล้วอาจกระทบต่อสถานภาพของตนเอง จะเห็นได้ชัดคือร่างรายประเด็นที่เสนอไปพร้อมๆ กับร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ที่ไปกระทบต่อสถานะของพวกท่านล้วนถูกตีตกในวาระที่หนึ่งหมดทุกร่าง ไม่ว่าเรื่องอำนาจ ส.ว. ระบบเลือกตั้ง ยกเลิกนิรโทษกรรมตลอดกาล ส่วนการลงมติในวาระ 3 โดยเฉพาะจากส.ว.250 คนและต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือไม่น้อยกว่า 84 คนนั้น งานนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่าท่านมีความเป็นอิสระไม่อยู่ในอาณัติใดๆหรือไม่ เพราะที่ไปที่มาของท่านเป็นเรื่องที่สังคมตั้งคำถามเรื่องความเป็นอิสระอยู่แล้ว งานนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่าท่านต้องการให้บ้านเมืองเดินไปอย่างไร ท่านอยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆหรือไม่ การที่ผู้ร้องอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2555 ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติของประชาชน การแก้ไขโดยจัดทำร่างใหม่ควรทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนเสียก่อนเพราะประชาชนคือผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญนั้น ความจริงกระบวนการทีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ยึดถืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนโดยทำประชามติถึงสองครั้งกล่าวคือ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมผ่านรัฐสภาแล้วต้องไปทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา256(8) หากผ่านประชามติแล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมาย และเมื่อมีรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนเสร็จสิ้นแล้วก็ต้องนำไปทำประชามติอีกครั้งก่อนเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงมิได้หมายความว่ารัฐสภายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เอง แต่ ส.ส.ร.เป็นคนยกร่างแล้วให้ประชาชนลงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ ทั้งหมดอยู่ในบริบทเรื่องอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แม้คำวินิจฉัยดังกล่าวจะเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยกเลิกไปแล้วก็ตาม การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายใดๆ ทำได้สองวิธี คือ แก้ไขรายมาตราบางประเด็นเรียกว่าแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่..) (พ.ศ.....)หรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกกฎหมายเก่าแล้วตราขึ้นมาใหม่ โดยที่อาจแก้มากแก้น้อย การอ้างว่าจัดทำฉบับใหม่ไม่ได้ จึงเท่ากับต้องแก้ไขเพิ่มเติมเป็นมาตราๆไปเท่านั้น แปลว่ารัฐธรรมนูญหรือก.ม.นั้นๆจะเป็นนิรันดร์ยกเลิกเพื่อทำใหม่ไม่ได้เลย ผิดหลักกระบวนการนิติบัญญัติอย่างสิ้นเชิง รัฐธรรมนูญมิได้ห้ามมิให้แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีนี้ ทั้งหมดอยู่ในความหมายของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น จึงถือว่ามีอำนาจทำได้ ข้อห้ามมิให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีเพียงข้อห้ามตามมาตรา 255 คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ที่พูดว่า "ท่าน" ขอให้คิดเองว่าหมายถึงใครบ้าง อยากจะกล่าวว่า ข้ออ้างทั้งหมด ตนเห็นว่าเป็นเพียงความพยายามสืบทอดอำนาจของ คสช. แบบ “รัฐธรรมนูญข้าใครอย่าแตะ” ซึ่งถ้าทบทวนตั้งแต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เนื้อหา โดยเฉพาะการได้มาซึ่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น ครม. , รัฐสภา , องค์กรอิสระทั้งหลาย อาจถือได้ว่ากระบวนการที่ทำอยู่นี้เป็นการร่วมมือ คบคิดกันปู้ยี่ปู้ยำประเทศ เพียงเพื่อคงอำนาจและสืบทอดอำนาจของพวกตัวเองไว้เท่านั้น