ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “การต่อสู้ของหญิง...ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใครจะหยิบยื่นให้ใครได้ แต่เป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกระดับ จะต้องตระหนักและเริ่มไขว่คว้า...ให้ได้มาซึ่งสิทธิและความเท่าเทียมทางสังคม” นั่นเป็นคำกล่าวของ “คลารา เซทคิน” ที่เต็มไปด้วยพลังความหมายต่อการต่อสู้ของเหล่าผู้หญิง...เพื่อการได้มาซึ่งความเท่าเทียมทางสังคม..เธอเป็นนักทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ นักกิจกรรม และนักส่งเสริมผู้สนับสนุนสิทธิสตรีชาวเยอรมัน...ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง 5กรกฎาคม ค.ศ.1857-20 มิถุนายน ค.ศ.1933...ในปีค.ศ.1911 เธอจัดวันสตรีสากลขึ้นเป็นครั้งแรก...เธอมีบทบาทในพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมันนีจนถึง ค.ศ.1917 แล้วเธอก็เข้าร่วมกับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยอิสระเยอรมันและปีกขวาจัด สันนิบาตสปาร์ตากุส ซึ่งต่อมาเป็นพรรคคอมมิวนิตส์เยอรมันนี ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรในไรซ์สทาค ระหว่างสาธารณะรัฐไวมาร์ ตั้งแต่ค.ศ.1920-1933 บ้านเกิดของคราลา เซทคิน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีภูเขา ลำธาร ป่าไม้ และฟาร์มปศุสัตว์ โดยตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาเออซาร์ แคว้นแซกโซนี...พื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นคนงานที่ยากจน บิดาของเราเป็นครู ส่วนมารดาเป็นผู้มีการศึกษาสูง เหตุนี้จึงพยายามฝึกฝนและหล่อหลอมลูกให้เติบโตขึ้นมาเพื่อเป็นครูในอนาคต ในวัตรปฏิบัติของชีวิต เซทคิน ขอบอ่านหนังสือ แต่ขณะเดียวกันก็ชอบเล่นและเติบโตแบบเด็กผู้ชาย...ตรงกันข้ามพวกเพื่อนๆของเธอกลับเติบโตขึ้นมาจากสถานะอันยากจน ที่ต่างชอบร้องเพลงพื้นบ้านที่มีเนื้อร้องเป็นที่ประทับใจและเป็นความทรงจำอันเนิ่นนานของเธอที่ว่า.. “ตอนเช้ากินมันฝรั่งแก้หิว...ตอนเที่ยงก็ต้มมันฝรั่งด้วยน้ำเปล่า ตอนเย็นก็กัดมันฝรั่งทั้งเปลือก.. มันฝรั่ง มันฝรั่ง แล้วก็มันฝรั่ง” ในห้วงเวลาแห่งภาวะสงครามระหว่างปรัสเซียกับฝรั่งเศส(ค.ศ.1870-1871)...ถือกันว่าระบบทุนนิยมได้ขยายตัวและเติบโตในเยอรมันนีสูงขึ้น...ผู้คนต่างพากันหลั่งไหลเข้าไปทำงานในเมือง ส่วนตัวของเซทคินเองก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนฝึกหัดครู...ที่นั่นและนับแต่นั้น เธอก็ด้ประจักษ์และพบเห็นการเอารัดเอาเปรียบต่อผู้ใช้แรงงาน เธอจึงเรียนรู้และเข้าใจปัญหาสังคมมากขึ้น...จนเกิดกระบวนการหยั่งรู้และตกผลึกทางความคิด กระทั่งเกิดข้อตระหนักและมองเห็นว่า... “ลัทธิสังคมนิยม”...คือทางออกของการแก้ไขปัญหาอันหมักหมมและคว่ำจมเหล่านี้...ของเหล่าบรรดาคนยากจนที่มีชีวิตอันยากลำบาก..ในปี ค.ศ.1878 เซทคินได้เข้าเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยของรัฐ...ที่นั่นยิ่งทำให้เธอได้มีโอกาสสัมผัสและมีส่วนได้ร่วมพูดคุย ร่วมประชุม และร่วมชุมนุมกับหมู่กรรมกรมากขึ้น.. ณ ขณะนั้น และตามที่ได้เป็นมา กรรมกรจะต้องทำงานวันละ 16-17 ชั่วโมง...โดยไม่มีวันหยุดและได้รับสวัสดิการใดๆ...และครั้นเมื่อกรรมกรหญิงคนใดตั้งครรภ์ก็จะถูกไล่ออกโดยทันทีโดยไม่มีความเห็นอกห็นใจ..บรรยากาศและสภาพการณ์ในโรงงานไม่มีแสงสว่างเพียงพอ เต็มไปด้วยฝุ่นละออง และคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นน้ำมันเครื่อง...ความสกปรกจึงหมักหมมอยู่ ณ ที่นั้น เป็นเหตุให้เหล่าบรรดาคนงานที่ทำงานได้ไม่นาน ต้องกลายเป็นวัณโรค ตามัว และกลายเป็นคนหลังค่อมเสียศูนย์ไป...นอกจากชะตากรรมที่ต้องเผชิญทั้งทางกายและใจดังกล่าวนั้น สังคมโรงงานก็ยังเต็มไปด้วยการกดขี่ขูดรีดจากบรรดานายทุนมาอย่างยาวนาน กระทั่งเกิดการต่อต้านจนมีการลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ของกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าของนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1857 ภายใต้ข้อเรียกร้องที่ต้องการให้บรรดานายจ้างเพิ่มค่าแรง ลดเวลาการทำงาน และขอให้มีการเพิ่มสวัสดิการด้านต่างๆ... แต่สุดท้ายสิ่งที่ได้รับตอบมาจากการร้องขอ กลับกลายเป็นว่าพวกเขาถูกลอบวางเพลิงในสถานที่ชุมนุม...จนทำให้กรรมกรหญิงต้องเสียชีวิตไปในครานั้นถึง 119 คน.. วันเวลาล่วงผ่านมาจนถึงวันที่ 8 มีนาคมปี ค.ศ.1907 กรรมกรหญิง ณ โรงงานทอผ้าที่ชิคาโก..ทนต่อการเอารัดเอาเปรียบอย่างอยุติธรรมนี้ไม่ไหวจึงได้ลุกขึ้นสู้อีกฝ่ายหนึ่ง ...และครั้งนี้เซทคินได้เป็นผู้นำในการต่อสู้ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อลดเวลาทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง รวมทั้งการยื่นข้อเสนอให้บรรดาโรงงานต้องปรับสวัสดิการในด้านต่างๆให้ดีขึ้น แม้ว่าการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังไม่สำเร็จ แต่ก็เป็นการจุดประกายความหวังให้เกิดขึ้นในหมู่กรรมกรและผู้ที่ใช้แรงงานในสังคมเป็นวงกว้างไปทั่วโลก...ทำให้เหล่าบรรดาสตรีผู้ใช้แรงงานชุมนุมกันอีกครั้งที่นิวยอร์ก โดยเรียกร้องให้มีการหยุดการใช้แรงงานเด็ก..โดยชูคำขวัญเป็นนัยสำคัญที่ว่า”ขนมปังกับดอกกุหลาบ” อันมีความหมายเป็นนัยที่หมายถึง การต้องมีอาหารที่เพียงพอกับการมีสุขภาพที่ดี กระทั่งวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910...ความหวังและความฝันของเซทคิน จึงบรรลุผล...เมื่อการประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค ได้ให้การรับรองระบบ “สาม8” ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของเหล่ากรรมกรผู้หญิง ในการให้ลดเวลาการทำงานในแต่ละวันเหลือเพียงวันละ8ชั่วโมง โดยให้มีเวลาศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง...รวมทั้งการให้มีเวลาสำหรับการพักผ่อน 8 ชั่วโมงเช่นกัน..พร้อมกับมีการเรียกร้องให้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่ากับแรงงานชาย และที่สำคัญคือให้มีการคุ้มครองสวัสดิการแก่แรงงานหญิง และแรงงานเด็กอย่างทั่วถึงและยุติธรรม เหตุนี้..วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี จึงถือเป็นวันสตรีสากลนับแต่นั้น ว่ากันว่า..เซทคิน ไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์ชีวิตที่ดีกว่าให้แก่ผู้หญิงผู้เป็นแรงงานของโลก...จนเจิดกระจ่างและเป็นที่ยอมรับในความเป็นสากลเพียงนั้น..แต่เธอยังเป็นทั้งนักการศึกษา นักปรัชญา นักการเมือง และเป็นผู้ใฝ่รู้ในศิลปะและวรรณคดีอีกด้วย... ภายหลังจากที่พรรคนาซีของฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจในเยอรมัน เธอได้อพยพและลี้ภัยไปอยู่ในรัสเซียด้วยสุขภาพที่ไม่ค่อยดีนัก สายตาเธอพร่ามัวจนเกือบใช้การอะไรไม่ได้เลย สุขภาพตกอยู่ในอาการป่วยหนัก..แต่เธอก็พยายามที่จะเขียนหนังสือ ทั้งๆที่หลายครั้งเธอไม่สามารถมองเห็นหมึกที่หมดไปจากปากกาที่เขียนแล้ว...จนกระทั่งวันที่30มิถุนายน ค.ศ.1933...เซทคินก็ได้ถึงแก่กรรม ที่ใกล้กรุงมอสโก... หัวใจของการทำงานของเซทคิน.นั้น.ถือว่า.เธอมีส่วนร่วมอย่างมากในพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยและเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี เป็นผู้มีส่วนร่วมกับฝ่ายซ้ายสุดขั้วของพรรคนี้นั่นคือ..สันนิบาตสปาร์ตา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมันนี เธอเป็นผู้สนับสนุนผู้หญิงให้ได้สิทธิการเลือกตั้งที่เท่าเทียม เธอได้เป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์สตรีและในช่วงจัดกิจกรรมต่อต้านสงครามนั้นเ เธอก็ได้จัดประชุมกลุ่มสตรีสังคมนิยมขึ้นเพื่อต่อต้านสงคราม..และเธอก็ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของเยอรมันนี กระทั่งได้ก่อตั้งสำนักงานสตรีขึ้นมา..และ.ในช่วงที่บิสมาร์คผู้ปกครองห้ามกลุ่มสังคมนิยมในเยอรมันนีทำกิจกรรมใดๆ เธอต้องเดินทางไปอยู่ที่ซูริก จากนั้นก็ลี้ภัยไปอยู่ปารีส..เธอเริ่มใช้ชื่อสกุลของ ออสซิบ เซทคิน ซึ่งเป็นคู่ชีวิตและมีบุตรชายด้วยกันสองคน แต่ต่อมาเธอก็ได้แต่งงานกับศิลปินชื่อ จอร์จ ฟรีดิช ชุนเดน....กระทั่งต้องเดินทางไปลี้ภัยในสหภาพโซเวียตอันเป็นที่สุด เรื่องราวของเซทคินนยังเป็นที่กล่าวขานถึงเสมอ ในฐานะผู้นำทางทัศนคติที่มีค่าต่อผู้หญิง...อันเป็นนัยสำคัญต่อโลกยุคใหม่ที่เน้นถึงความเท่าเทียมในวิถีแห่งเพศสภาวะ..การปรับแต่งคุณค่าของชีวิตให้สูงขึ้นในฐานะของความเป็นมนุษย์ถือเป็นคุณค่าอันอันจำเป็นต่อการดำรงอยู่ร่วมกันในโลกวันนี้ โลกที่หวังถึงการเดินเคียงกัน ด้วยหัวใจแห่งการยกย่องนับถือด้วยเกียรติภูมิอันเสมอกัน นั่นคือปฐมฐานแห่งสังคมที่ให้ค่า “มนุษย์เป็นมนุษย์” ไม่ว่าคุณจะดำรงอยู่ในสถานะใดก็ตาม 121 ปีแล้วที่วันสตรีสากลได้เวียนกลับมาทวงถามความสำคัญอีกครั้งหนึ่งในปีนี้... “คลารา เซทคิน” ผู้ให้กำเนิดวันสตรีสากล..เรียบเรียงโดย “สุนทรี วีรอนงค์” จึงถือเป็นหนังสือที่ยังทรงพลังในคุณค่าอย่างยิ่งต่อการรับรู้ ในการให้ความหมายต่อผู้หญิงอันจริงแท้...ชีวิตของเซทคิน นับเป็นบทเรียนต่อการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ล้ำค่าในวิถีแห่งการจดจำและศึกษาอันสำคัญยิ่ง..มันเป็นทั้งปณิธานและแบบเรียนแห่งชีวิตในคราเดียวกัน แน่นอนว่ามันจะไม่ถูกลบเลือนและถูกลืมเลือนโดยใครได้................ แม้เมื่อใด... “การต่อสู้ของผู้หญิง ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะหยิบยื่นให้ใครได้ แต่เป็นเรื่องที่ผู้หญิงในทุกระดับ จะต้องตระหนัก....และเริ่มไขว่คว้า”