สศร.จับมือดีไซเนอร์ลงชุมชนสร้างสรรค์พัฒนาผ้าไทยสไตล์ร่วมสมัย อีก 7 สถาบันศึกษาด้านออกแบบเครื่องแต่งกาย ตั้งเป้ากระตุ้นตลาดผ้าไทยสร้างกำไรทั้งในและต่างประเทศ ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) กล่าวว่า สศร. กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ได้วางแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรในสาขาการออกแบบเครื่องแต่งกายโดยดำเนินการร่วมกับชุมชนทั่วประเทศ ตั้งเป้าให้พัฒนาชุมชนผู้ผลิตผ้ามีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 นอกจากดำเนินโครงการการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัยชายแดนใต้ ที่นำผ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาเป็นโจทย์ในการแข่งขันในการพัฒนาผ้าพื้นเมืองแล้ว สศร.ยังมีโครงการพัฒนาเครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยของชุมชนในพื้นที่ 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง และโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย ที่ปีนี้จะนำดีไซน์เนอร์จับคู่กับชุมชนผู้ผลิตผ้าใน 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค ให้มีการสร้างสรรค์งานร่วมกันระหว่างดีไซน์เนอร์และชุมชน โดยมุ่งหวังให้ชุมชนได้เรียนรู้และสร้างทักษะในการสร้างสรรค์งานเพื่อเพิ่มรายได้ นอกจากนี้ สศร.ยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา 7 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ในการพัฒนาความร่วมมือด้านศิลปะร่วมสมัยสาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย พร้อมส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสในการนำผ้าไทยมาใช้ในการออกแบบเครื่องแต่งกาย และร่วมกันดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดประโยชน์และประยุกต์ใช้ในสังคม โดยข้อตกลงระยะเวลา 1 ปี “แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยจะยังมีอยู่ แต่การพัฒนาผ้าไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติจะไม่หยุดนิ่ง โดยเราตั้งเป้าเพิ่มขีดความสามารถในการกระตุ้นเปิดตลาดผ้าไทยให้มีกำไรมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งเสริมสร้างการยอมรับในเวทีโลกอย่างกว้างขวางมากขึ้นอีกด้วย” ดร.วิมลลักษณ์ ผอ.สำนักศิลปะฯร่วมสมัย กล่าว