ก.ล.ต.เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศปรับปรุงแนวทางการเปิดเผยข้อมูลในโครงการจัดการกองทุนรวม เพื่อลดภาระและต้นทุนการดำเนินการให้แก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยผู้ลงทุนยังคงมีข้อมูลที่เพียงพอในการใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ตามแนวทาง Regulatory Guillotine สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมออกประกาศปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลในส่วนของโครงการจัดการกองทุนรวม เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลในส่วนดังกล่าวมีรายละเอียดค่อนข้างมาก โดยบางส่วนเป็นข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกับเอกสารอื่นๆที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต้องจัดทำและเปิดเผยแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนอยู่แล้ว โดย ก.ล.ต. ได้พิจารณาความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบธุรกิจและบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับหลักการดังกล่าว รวมทั้งจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจาก บลจ. และผู้ดูแลผลประโยชน์ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงแนวทางการเปิดเผยข้อมูลในโครงการจัดการกองทุนรวม และลดความซ้ำซ้อนของกฎเกณฑ์ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินการของผู้ประกอบธุรกิจ โดยที่ยังคงสามารถกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจและคุ้มครองผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก.ล.ต. จึงยกร่างประกาศจำนวน 3 ฉบับ และเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศ ซึ่งได้แก้ไขปรับปรุงหัวข้อต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับหลักการข้างต้น ดังนี้ (1) ข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 11 และข้อ 14 ของร่างประกาศสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ สน. /2564 เรื่องรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม (2) ข้อ 20 ของร่างประกาศสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ สน. /2564 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน (ฉบับที่… ) รวมทั้งภาคผนวก 5 และภาคผนวก 8 แนบท้ายประกาศ และ (3) ข้อ 11 ของร่างประกาศสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ สน. /2564 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของ กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน (ฉบับที่… ) รวมทั้งแบบ 123-1 และคำอธิบายเพิ่มเติมแนบท้ายแบบ 123-1 โดย ก.ล.ต.ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=702 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 3 เมษายน 2564 สำหรับ Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง