เผยแชร์ต่อในไลน์ 3 ชั่วโมงตั้งแต่เที่ยงคืนครึ่งถึงตีสามครึ่ง ให้ปิดให้หมดทั้งมือถือ แท็บเล็ต และอุปกรณ์อื่นๆ และให้วางไกลๆ อย่าเอาไว้ใกล้ตัว ไม่เป็นความจริง
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ FAKE NEWS! ข่าวปิดมือถือหนีรังสีคอสมิกช่วงหลังเที่ยงคืน #ไม่เป็นความจริง
ช่วงนี้บางคนอาจจะเห็นข้อความส่งต่อกันใน LINE เตือนให้ระวังถึงรังสีคอสมิก ในคืนนี้ ช่วงเวลาระหว่าง 00:30 - 03:30 น. โดยเตือนให้ปิดโทรศัพท์มือถือแท็บเล็ตและอื่นๆ และวางให้ห่างจากร่างกาย เนื่องจากดาวเคราะห์ของเราจะมีการแผ่รังสีที่สูงมาก รังสีคอสมิกจะผ่านเข้ามาใกล้โลก และอาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้
ข้อความดังกล่าวนี้ "ไม่เป็นความจริง" แต่อย่างใด เนื่องจากไม่ได้มีการทำนายการมาของรังสีคอสมิกที่จะเกิดขึ้นในช่วง 00:30-03:30 น. ตามที่กล่าวอ้าง รังสีคอสมิกนั้นเป็นเพียงเศษส่วนเล็กน้อยของปริมาณรังสีที่มนุษย์ได้รับประจำในแต่ละปี และแม้ว่ารังสีคอสมิกอาจจะส่งผลต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้น “ไม่” สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายของมนุษย์ได้แต่อย่างใด
- รังสีคอสมิกคืออะไร?
รังสีคอสมิกคือรังสีพลังงานสูง ที่เกิดจากอนุภาคความเร็วเข้าใกล้แสง อย่างไรก็ตาม ดาวเคราะห์ไม่ใช่แหล่งกำเนิดของรังสีคอสมิก และรังสีคอสมิกที่เราพบบนโลกนั้นถือกำเนิดขึ้นจากดวงอาทิตย์ และจากการระเบิดซูเปอร์โนวาของดาวฤกษ์ที่อยู่ไกลออกไป หรือหลุมดำ ฯลฯ ทั้งในกาแล็กซีของเราและนอกกาแล็กซี
- มีช่วงใดที่มีรังสีคอสมิกมากเป็นพิเศษหรือไม่?
ทุกวันนี้เรายังไม่สามารถทำนายการเกิดรังสีคอสมิกได้ล่วงหน้า เนื่องจากแหล่งกำเนิดของรังสีคอสมิกนั้นมีมากมายไปทั่วทั้งเอกภพ (อันเป็นที่มาของชื่อว่า “รังสีคอสมิก”) จึงไม่สามารถเป็นไปได้ที่จะมีการทำนายล่วงหน้าว่าช่วงใดจะมีรังสีคอสมิกมากเป็นพิเศษ
- รังสีคอสมิกสามารถส่งอิทธิพลต่อมนุษย์ได้หรือไม่?
รังสีคอสมิกนั้นเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของปริมาณรังสีที่มนุษย์ได้รับเป็นประจำอยู่แล้ว แต่คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เพียงประมาณ 13% ของรังสีพื้นหลังที่มนุษย์ได้รับทั้งหมด (คิดเป็นเพียงหนึ่งในสามของรังสีที่มีอยู่ทั่วไปในอากาศรอบๆ ตัวเราอยู่แล้ว) สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณรังสีนั้นอยู่ในปริมาณที่น้อยนั้น มาจากชั้นบรรยากาศที่คอยปกคลุมรอบตัวเราเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ละติจูดที่สูง หรือนักบินที่บินอยู่บนเครื่องบินที่สูงเป็นประจำจะได้รับปริมาณรังสีคอสมิกในปริมาณที่มากกว่า แม้ว่าการได้รับรังสีคอสมิกนั้นอาจจะเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขสำหรับนักบินอวกาศที่จะต้องไปอาศัยอยู่ในอวกาศ ดวงจันทร์ หรือดาวอังคารในอนาคต แต่สำหรับมนุษย์บนโลกที่อยู่ใต้ชั้นบรรยากาศนั้น รังสีคอสมิกนับเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณรังสีที่เราต้องพบอยู่ในชีวิตประจำวัน
- รังสีคอสมิกสามารถส่งอิทธิพลต่ออะไรได้อีกบ้าง?
รังสีคอสมิกที่ชนเข้ากับชั้นบรรยากาศของโลกนั้นเป็นแหล่งที่คงรักษาปริมาณคาร์บอน-14 ในชั้นบรรยากาศให้เกือบคงที่ตลอด 100,000 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้แล้ว รังสีคอสมิกที่บังเอิญชนเช้ากับชิ้นส่วนชิพของคอมพิวเตอร์ในบางครั้งอาจจะทำให้เกิดการสูญเสียหรือได้รับประจุอิเล็กตรอน ซึ่งส่งผลต่อการประมวลผลที่ผิดพลาดในคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า “soft error” ในปี 1990 บริษัท IBM ได้มีการประมาณการว่ารังสีคอสมิกนั้นอาจจะทำให้การประมวลผลในคอมพิวเตอร์ผิดไป 1 ตำแหน่ง ทุกๆ 256 เมกะไบต์ (สองพันล้านบิต) ในทุกๆ เดือน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของรังสีคอสมิกที่มีต่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นเกิดขึ้นเพียงภายในซอฟต์แวร์ และไม่สามารถส่งผลกระทบต่อมนุษย์ที่อยู่รอบๆ ข้างอุปกรณ์เหล่านั้นได้
- เราสามารถมองเห็นรังสีคอสมิกได้หรือไม่?
รังสีคอสมิกนั้นเป็นเพียงอนุภาคที่เล็กยิ่งกว่าอะตอม และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมากเสียจนเข้าใกล้แสง เราจึงไม่สามารถสังเกตเห็นรังสีคอสมิกโดยตรงได้ อย่างไรก็ตาม เราสามารถสร้างอุปกรณ์ที่ทำให้เราสามารถสังเกตเห็นอิทธิพลที่เกิดขึ้นเมื่อรังสีคอสมิกผ่านได้ ผ่านอุปกรณ์ที่เราเรียกว่า “Cloud Chamber” เราสามารถสังเกตอุปกรณ์ Cloud Chamber ได้ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (Astropark) อ. แม่ริม จ.เชียงใหม่
ภายในเครื่อง Cloud Chamber นี้ จะเต็มไปด้วยไอของแอลกอฮออล์ที่จุดอิ่มตัว เมื่ออนุภาคมีประจุที่เกิดจากรังสีคอสมิกวิ่งผ่านไอเหล่านี้ ประจุจะเหนี่ยวนำให้โมเลกุลของสารระเหยวิ่งเข้ามารวมตัวกัน (เปรียบได้กับฝูงมหาชนที่กรูกันเข้ามาเมื่อมีไอดอลชื่อดังวิ่งผ่าน) การรวมตัวของไอสารระเหยเหล่านี้จึงทำให้เกิดการควบแน่น ทิ้งไว้เป็นเส้นทางที่บ่งบอกถึงอนุภาคจากรังสีคอสมิกที่เพิ่งผ่านไป
ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสื่อสังคมออนไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง ต้นตอข่าวลือต่างๆ ไม่ได้มาจากไหน แต่วนเวียนอยู่ในโลกไซเบอร์ที่มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่ต้องอาศัยวิจารณญาณในการรับรู้ จึงขอให้ประชาชนเปิดรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ ศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ด้วยเหตุและผล ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิง เผยแพร่และส่งต่อข้อมูลข่าวสารด้วยความระมัดระวัง
ข้อมูล : ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ สดร.”
สามารถชมวิดีโอสาธิตเครื่องตรวจวัดรังสีคอสมิก (Cloud Chamber) ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=PO4ohuzF2PA..."