กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ สถานประกอบการธุรกิจโรงแรม หรือสถานที่ที่รัฐกำหนดให้เป็นสถานที่กักกัน (Alternative State Quarantine) จัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการควบคุมโรคโควิด-19
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานตรวจเยี่ยมประเมินบูรณาการโรงแรมที่เป็นสถานกักตัวแห่งรัฐแบบทางเลือก (Alternative State Quarantine) ณ โรงแรมเมอเวนพิค บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท กรุงเทพมหานคร ว่า ขณะนี้มีสถานประกอบการธุรกิจโรงแรมได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกำหนดให้เป็นสถานที่กักกัน รับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติและไม่มีอาการที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคโควิ-19 (Patient under investigation) เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ตามหลักเกณฑ์แนวทางที่รัฐกำหนด ก่อให้เกิดประโยชน์ 2 ทาง คือ การป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 และสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการโรงแรม โดยขอให้มีมาตรการคุมเข้มตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุขรวมทั้งการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ที่ควรมีระบบการจัดการขยะติดเชื้อ โดยจัดห้องพักขยะแยกเป็นสัดส่วนชัดเจน โครงสร้างแข็งแรง มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ห้องพักขยะต้องมิดชิดป้องกันไม่ให้สัตว์พาหะเข้าออก มีป้ายหน้าห้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นที่พักรวมมูลฝอยติดเชื้อ ภาชนะบรรจุมูลฝอยติดเชื้อปิดมิดชิด และต้องกำหนดเส้นทางและเวลาในการเก็บ ขน มูลฝอยติดเชื้อ ส่วนระบบการบำบัดน้ำเสียต้องได้มาตรฐาน มีระบบฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีน และมีเอกสารตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกทุกเดือนแสดงเอกสารหลักฐานย้อนหลังอย่างน้อย 3 เดือน นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมชุดและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อขณะปฏิบัติงาน
"สำหรับผู้กักกันขอให้ความร่วมมือในการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายที่ห้องพัก และการสอบถามอาการผ่านทางโทรศัพท์ หรือ Video call พร้อมบันทึกข้อมูลสุขภาพเป็นประจำทุกวัน โดยเจ้าหน้าที่โรงแรม หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ให้ผู้กักกันออกมาใช้พื้นที่ส่วนกลางที่ไม่ได้กำหนดไว้ หลังจากเข้าห้องพักเพื่อจัดการตนเองแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน แต่โรงแรมที่เป็นสถานกักกันแห่งรัฐแบบทางเลือก (Alternative State Quarantine) จะสามารถออกมา relaxing zone ได้บางเวลา แต่จำกัดสถานที่ ส่วนชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากสหราชอาณาจักร จะไม่อนุญาตให้สามารถออกจากห้องพัก และห้ามมิให้ผู้ที่ถูกกักกันมีการบ้วนน้ำลาย เสมหะ สั่งน้ำมูก ลงบนพื้นที่ห้องหรือพื้นที่ส่วนกลาง ขยะทุกชิ้นเป็นขยะติดเชื้อ การจัดการขยะติดเชื้อให้ใส่ในถุงขยะสีแดง พับปากถุงลง และมัดปากถุงให้แน่น วางไว้บริเวณหน้าห้องตามเวลาที่ที่พักกำหนด ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และห้ามเสพของมึนเมาในพื้นที่ของสถานดูแลผู้กัดกัน ไม่อนุญาตให้บุคคลอื่น รวมถึงครอบครัวหรือญาติของผู้กักกันเข้ามาในพื้นที่กักกัน ที่สำคัญโรงแรมต้องแจ้งข้อกำหนดต่างๆ รวมถึงตารางเวลา และวิธีการทำความสะอาดห้องพัก การใช้บริการซักรีดและการบริการอาหารของที่พัก การจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ เพื่อให้ผู้กักกันรับทราบและปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของที่พัก เมื่อผู้กักกันได้รับการดูแลรักษาและควบคุมโรคในสถานที่ควบคุมครบ 14 วัน จะได้รับหนังสือรับรองเพื่อแสดงแก่ผู้เกี่ยวข้องต่อไป" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว