ประเทศไทยเรากำลังเตรียมพร้อมรับมือกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ เพราะได้เห็นตัวอย่างจากญี่ปุ่นซึ่งเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุมาก่อน จากจำนวนประชากร 127 ล้านคน มีผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปถึง 32 ล้านคน และอายุ 60 ปี ขึ้นไป 40 ล้านคนอีก 50 กว่าล้านคนที่เหลือเป็นวัยทำงาน และเด็ก แน่นอนสังคมญี่ปุ่นขาดแรงงาน และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลประชากรสูงอายุที่สูง แต่ด้วยความที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และมีการเตรียมพร้อมมาล่วงหน้า จึงถือว่าระบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวของญี่ปุ่นถือเป็นรูปแบบตัวอย่างให้ไทยสามารถศึกษาได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะคนวัยทำงานถือเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นรัฐบาลยังคงต้องส่งเสริมการผลิตประชากรมาทดแทน ไม่เช่นนั้นสัดส่วนข้างต้นจะยิ่งสูงขึ้น ทว่าด้วยปัจจัยหลายอย่างโดยเฉพาะปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมในปัจจุบัน ทำให้คนแต่งงานน้อยลง หรือแต่งงานแล้วเลือกที่จะไม่มีลูก ซึ่งหลายๆ รัฐบาลได้ออกมาตรการจูงใจ ให้สิทธิ และความช่วยเหลือต่างๆ สำหรับครอบครัวที่จะมีบุตร แม้แต่รัฐบาลจีนที่ได้ผ่อนคลายมาตรการลูกคนเดียว เปิดทางให้ครอบครัวคนจีนสามารถมีลูกคนที่ 2 ได้เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี่เอง แต่สำหรับในกรณีของญี่ปุ่น ปัญหาใหม่กำลังเป็นประเด็นกัน ในขณะนี้ ไม่ใช่การขาดแคลนคนวัยทำงานเท่านั้น แม้ทางการจะส่งเสริมอย่างไร แต่ประชากรก็ไม่อาจะเพิ่มขึ้นได้เลย หากคนญี่ปุ่นตอนนี้ไม่ค่อยจะมีเซ็กส์กัน "ร้อยละ 45 ของผู้หญิงญี่ปุ่น อายุ 16 - 24 ปี ไม่สนใจ หรือปรารถนาการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ขณะที่ผู้ชายที่คิดแบบเดียวกันนี้ อยู่ที่ร้อยละ 25" นี่คือผลสำรวจปีล่าสุดโดยหน่วยงานด้านวางแผนครอบครัวของญี่ปุ่น หรือเจเอฟพีเอ "อาอิ อาโอยามา" ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศ และความสัมพันธ์ในกรุงโตเกียว วัย 52 ปี ปัจจุบันเธอทำงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ภาวะที่สื่อญี่ปุ่นเรียกว่า "เซกคูซุ ชินาอิ โชโคกุน" หรือ "โรคพรหมจรรย์" เปิดเผยว่า ปัญหาใหญ่ของคนญี่ปุ่นที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ตอนนี้ คือพวกเขาสูญเสียความสนใจในด้านความสัมพันธ์ คนจำนวนหลายล้านคนไม่แม้แต่จะออกเดต สำหรับรัฐบาลแล้วโครคการครองตัวเป็นโสดนี้ ถือเป็นปัญหาระดับชาติ เพราะญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก ไจำนวนประชากร 126 ล้านคนนี่เป็นตัวลงที่ปรับตัวลดลงจากหลายทศวรรษ และคาดกันว่าถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป ประชากรจะลดลงถึง 1 ใน 3 ในปี ค.ศ. 2060 ปัจจุบันจำนวนคนโสดของญี่ปุ่นสูงขึ้นเป็นประวัติกาล ผลสำรวจปี 2011 พบว่า ร้อยละ 61 ของคนที่ยังไม่ได้แต่งงานเป็นผู้ชาย และร้อยละ 49 เป็นผู้หญิง อายุ 18 - 34 ปี และคนกลุ่มนี้ไม่แม้แต่กำลังจะคบกับใครอยู่ด้วยซ้ำ ตัวเลขนี้น่าเป็นห่วงเพราะเพิ่มขึ้นถึงเกือบร้อยละ 10 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อีกการศึกษาหนึ่งพบว่า 1 ใน 3 ของคนอายุ ต่ำกว่า 30 ปี ไม่เคยออกเดตเลย (การศึกษานี้ไม่รวมกลุ่มความสัมพันธ์เพศเดียวกัน ) แม้ว่าจะมีโปรแกรมบำบัด หรือคลินิกให้คำปรึกษา ให้การช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนมากในประเทศแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร "บางคนปฏิเสธเรื่องแบบนี้ไปเลย บางคนก็ต้องการแค่หุ้นส่วนคู่คิด หรือไม่ก็ขออยู่เป็นโสดดีกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สามีเป็นพนักงานเงินเดือนทำงานนอกบ้าน ส่วนภรรยาเป็นแม่บ้านเต็มเวลาอยู่บ้านนั้น ตอนนี้เปลี่ยนไปผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้านกันมาก ผู้คนไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบดังกล่าวอย่างไร ในกรณีที่คู่แต่งงานต่างก็ทำงานทั้งคู่ พวกเขารู้ว่าต้องการสิ่งที่แตกต่างออกไปจากวัฒนธรรมเดิม แต่ก็รู้สึกว่ามีอะไรที่ผิดแปลกเกิดขึ้น" อาโอยามากล่าว ในปี 2012 สถิติเด็กเกิดใหญ่ของญี่ปุ่นน้อยที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกมา ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุสูงขึ้น กางเกงผ้าอ้อมสำหรับคนแก่จำหน่ายได้มากกว่าผ้าอ้อมเด็กเป็นครั้งแรก นี่คือปรากฏการณ์ที่ คูนิโอะ คิตามูระ หัวหน้าเจเอฟพีเอ กล่าวว่า ที่สุดแล้วอาจจะกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ คนที่เกิดในยุค 40 ตอนนี้ก็เป็นคนชราที่พ้นวัยทำงานไปแล้ว ขณะที่ประเทศกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนานใหญ่ใน 20 ปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งจากผลกระทบจากแผ่นดินไหว สึนามิ และวิกฤตินิวเคลียร์รั่วไหลเมื่อปี 2011 ทำให้ผู้คนไม่มีกะจิตกะใจคิดเรื่องนี้ "ทั้งชาย และหญิงกล่าวว่าไม่เป็นว่าความรักจะสำคัญตรงไหน ไม่เชื่อในอานุภาพความรักว่าจะบันดาลอะไรได้อีกแล้ว ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ยากเกินไป" นี่คือความเห็นของคนที่มารับการบำบัดกับอาอโอยามากล่าว การแต่งงานกลายเป็นทางเลือกที่ไม่น่าปรารถนา ชายญี่ปุ่นไม่ได้มีความกระตือรือล้นในอาชีพแบบสมัยก่อน ความมั่นคงในชีวิต ในอาชีพก็น้อยลง ขณะที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่ออกมายืนด้วยลำแข้งของตัวเอง มีความทะเยอทะยานมากขึ้น แต่ด้วยความคิดอนุรักษ์นิยมที่ยังฝังแน่นที่ผู้ชายทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงอยู่บ้าน ทำให้แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่สตรีญี่ปุ่นยุคใหม่สามารถประสานทั้งงาน และครอบครัวไว้ได้ ซึ่งหากไม่ช่วยกันทำงานการเลี้ยงดูลูกสักคนก็คงเป็นไปได้ยากในสมัยนี้ และการอยู่ด้วยกัน หรือเป็นพ่อแม่ที่ยังไม่ได้แต่งงานก็เป็นเรื่องที่ยังรับไม่ได้ของสังคมญี่ปุ่นวันนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศ และความสัมพันธ์ยังกล่าวอีกด้วยว่า ระยะห่าง(ทางความรู้สึก)ระหว่างกัน การมีส่วนร่วมแบ่งปันเป้าหมาย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย อีกทั้งยุคนี้ความพอใจทางเพศแบบไม่เป็นทางการ ไม่จริงจังสามารถหาได้ง่าย รวดเร็ว สำเร็จรูปจากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นหนังโป๊ แฟนเสมือนจริง หรือการ์ตูนอนิเมะ ทั้งหมดนี้เข้ามาแทนพื้นที่ของความรัก และเพศสัมพันธ์ในรูปแบบอย่างครั้งอดีต ลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่มาใช้บริการบำบัดของอาโอยามา เป็นคนกลุ่มน้อยที่มีลักษณะสุดโต่งแบบแยกตัวออกจากสังคม ที่เรียกว่า "ฮิคิโคโมริ" ซึ่งก่อนอื่นต้องทำให้พวกเขากลับเข้าไปสู่โลกภายนอกให้ได้ก่อนเป็นอย่างแรก จึงจะค่อยๆ ก้าวไปสู่การมีความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้นได้ บางคนอายุเข้าสามสิบกลางๆ แล้วแต่ก็ยังไม่มีสัญญาณหรือความตั้งใจที่จะย้ายออกมาอยู่เอง ประมาณกันว่าคนโสด 13 ล้านคนในญี่ปุ่น ปัจจุบันยังอาศัยร่วมชายคาเดียวกับพ่อแม่ และกว่า 3 ล้านคน อายุเกิน 35 ปีไปแล้ว หนึ่งในตัวอย่างคนไข้รายหนึ่งเป็นชายวัย 30 ต้นๆ ปัจจุบันยังรักษาพรหมจรรย์ไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะไม่สามารถแตะตัวผู้หญิงได้เลย เว้นแต่จะเป็นหุ่นยนต์ผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งต้องการบำบัดทางจิตใจก่อนไม่ว่าจะเป็นโยคะ หรือการสะกดจิต ให้ผ่อนคลาย และทำให้เขาเข้าใจรูปแบบที่ร่างกายมนุษย์จริงๆ เป็น เอริ โทมิตะ วัย 32 ปี เป็นผู้หญิงทำงานที่กำลังไปได้ดีในแผนกทรัพยากรบุคคลของธนาคารฝรั่งเศสแห่งหนึ่ง เธอพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว จบ 2 ปริญญา เธอหลีกเลี่ยงเรื่องรักใคร่เพราะต้องการมุ่งมั่นกับงานเท่านั้น "แฟนของฉันแต่งงานเมื่อ 3 ปีที่แล้วแต่ชั้นปฏิเสธ เพราะตระหนักว่าฉันสนใจเรื่องงานมากกว่า หลังจากนั้นฉันก็หมดความสนใจที่จะไปออกเดต และมันเป็นคำถามที่น่าอึดอัดหากต้องตอบเรื่องอนาคต เพราะโอกาสของผู้หญิงที่จะก้าวหน้าที่ในเรื่องงานนั้นจะหายไปทันทีหากแต่งงาน เนื่องจากหัวหน้าจะคิดว่าในไม่ช้าเราจะท้อง และเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งมีลูก การบริหารเวลาที่ยืดหยุ่นก็จะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เราจะต้องลาออก จบลงที่การเป็นแม่บ้าน และไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง ซึ่งนั่นไม่ใช่ทางเลือกของผู้หญิงแบบฉัน" โทมิตะกล่าว ร้อยละ 70 ของผู้หญิงญี่ปุ่นลาออกจากงานหลังมีลูกคนแรก ซึ่งเวิร์ล อิโคโนมิค ฟอรั่ม ได้จัดอันดับญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่แย่ที่สุดในด้านความเท่าเทียมกันทางเพศในด้านการทำงาน ทัศนคติทางสังคมไม่ได้ช่วยเลย ขณะที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เพิ่งจะเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจของสตรีญี่ปุ่นด้วยการเปรับเงื่อนไขหลายอย่าง รวมทั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็ก เพื่อที่จะให้พวกเธอเหล่านั้นเป็นภรรยาที่ทำงานนอกบ้าน และเป็นแม่ได้ด้วย แต่ก็ยากจะเปลี่ยนทัศนคติของผู้หญิงยุคใหม่ที่รักอิสระมากกว่าการจะถูกผูกมัดจำกัดด้วยการมีครอบครัว และนี่คือสิ่งที่สังคมญี่ปุ่นในวันนี้หวาดกลัวเหลือเกิน