"ต้องปลูกฝังลูกหลานสมาชิกให้รักอาชีพการเลี้ยงโคนม มีผู้สืบทอดอาชีพการเลี้ยงโคนม และมีการอบรมส่งเสริมให้ความรู้ในการเลี้ยงโคนม" พระราชดำรัสความตอนหนึ่งที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตรัสแก่ผู้ที่มาเฝ้ารับเสด็จ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์โคนมปากช่อง จำกัด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันพบว่าเกษตรกรเลี้ยงโคนมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย มีอายุเฉลี่ย 55-65 ปี และมีความต้องการอยากให้ลูกหลานสานต่ออาชีพ ขณะเดียวกันในส่วนของสหกรณ์โคนมก็ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ มาส่งเสริมฟาร์มโคนมสมาชิก ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ตระหนักการสร้างความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงโคนม จำเป็นต้องสร้างคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นบุตรหลานสมาชิกสหกรณ์โคนมมาต่อยอดอาชีพพระราชทาน จึงได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาสานต่อแนวพระราชดำริ โดยได้ทำโครงการความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสาขาสัตวแพทยศาสตร์ สัตวศาสตร์ แก่ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 และที่สำคัญปีการศึกษา 2564 ได้ขยายโครงการความร่วมมือกับสถานศึกษาเพิ่มเติม ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรอีกด้วย ซึ่งทุนการศึกษาดังกล่าวได้มาจากการจัดสรรดอกผลเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ จำนวน 23.187 ล้านบาท มาเป็นทุนการศึกษาให้กับบุตรหลานสมาชิกสหกรณ์ ทั้ง 2 โครงการ จนจบการศึกษา
ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่ทำความร่วมมือเปิดสอนในวิชาดังกล่าวเข้าร่วมโครงการ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะสัตวแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร) มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลศรีวิชัย และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ปัจจุบันมีทายาทสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมได้รับการทุนการศึกษาแล้วจำนวน 10 ทุน แบ่งเป็นปีการศึกษา 2562 จำนวน 1 ทุน และปีการศึกษา 2563 จำนวน 9 ทุน รวมเงินทุนการศึกษาทั้งสิ้น 2.519 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2564 นอกจากทุนการศึกษาสาขาสัตวแพทยศาสตร์และสัตวศาสตร์แล้ว จะมีการเพิ่มสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรด้วย โดยเป็นความร่วมมือกับสถานศึกษาตามโครงการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับบุตรหลานสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตร ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี สาขาการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร เรียน 4 ปี มีจำนวน 10 ทุนต่อปี และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร และสถานศึกษาประเภทเกษตรกรรมและประมง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แบ่งเป็น ระดับ ปวส. เรียน 2 ปี มีจำนวน 50 ทุนต่อปี และระดับปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) เรียน 2 ปี จำนวน 20 ทุนต่อปี
น.ส.อัญธิกา นาคนารี นักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้รับทุนการศึกษาเป็นคนแรกของโครงการ เผยถึงความรู้สึกในการได้รับทุนฯ ว่ารู้สึกดีใจมากเมื่อรู้ว่าผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาในคณะที่ตนเองใฝ่ฝัน เนื่องจากมีความสนใจและตั้งใจที่จะเรียนในคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังได้ศึกษาข้อมูลมาก่อนหน้านี้
"ตอนนี้อยู่ปี 2 แล้วค่ะ ตั้งใจอยากจะนำความรู้ไปดูแลฟาร์มโคนมที่บ้าน" นักศึกษาสัตวแพทย์คนเดิมเผย โดย น.ส.อัญธิกา นาคนารี ได้สมัครเข้าร่วมโครงการผ่านสหกรณ์โคนมท่าม่วง จำกัด อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เนื่องครอบครัวเธอเป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมที่นี่ ปัจจุบันมีโคนมอยู่ในความดูแลจำนวน 20 ตัว ซึ่งที่ผ่านมาเธอบอกว่าไม่ค่อยมีโอกาสช่วยดูแลกิจการโคนมของครอบครัวมากนัก เนื่องจากยังขาดความรู้เกี่ยวกับการดูแลโคนม จึงได้แค่ช่วยทำความสะอาดฟาร์ม
"ไม่ค่อยได้ช่วยอะไรมากเท่าไหร่ ก็คือเข้าไปช่วยทำความสะอาดฟาร์มเป็นหลัก ไม่ค่อยช่วยเรื่องรีดนมเท่าไหร่" น.ส.อัญธิกา กล่าวยอมรับและระบุว่าหากจบมาก็จะหางานทำควบคู่ไปกับการพัฒนาฟาร์มโคนมของครอบครัวด้วย โดยสิ่งที่อยากพัฒนาได้แก่ การปรับปรุงเรื่องสายพันธุ์ เรื่องอาหารและการผสมเทียม ซึ่งปัจจุบันโคนมส่วนใหญ่เป็นลูกผสมมีไขมันนมค่อนข้างน้อย จึงอยากจะพัฒนาตรงนี้
ความรู้สึกนี้ไม่ต่างกันกับ น.ส.ปริสปา วิจารา คณะสัตวแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ได้ส่งคัดเลือกเข้ารับทุนเรียนต่อ น.ส.ปริสปา เป็นบุตรสาวคนที่สองของครอบครัว ”วิจารา”เจ้าของฟาร์มโคนม ใน ต.หนองหญ้าเสือ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ปัจจุบันมีโคนมอยู่ในความดูแลจำนวนกว่า 40 ตัว
"ที่บ้านทำฟาร์มโคนม แถวบ้านยึดอาชีพนี้เป็นหลักค่ะ หนูชอบเพราะพ่อทำงานปศุสัตว์ที่ อ.มวกเหล็ก เห็นวัวนมมา ตั้งแต่เด็ก คิดว่าโตขึ้นก็อยากเรียนสัตวแพทย์หรือสาขาที่เกี่ยวข้องเพราะอยากมาดูแลฟาร์มโคนมที่บ้านด้วย"
น.ส.ปริสปา บอกว่าเธอมีพี่น้องสองคน พี่ชายจบสัตวบาลจาก ม.แม่โจ้ ปัจจุบันช่วยครอบครัวทำฟาร์มโคนม ส่วนเธอก็ตั้งใจว่าหลังจบการศึกษาสัตวแพทย์แล้วก็จะกลับมาช่วยดูแลฟาร์มโคนมของครอบครัวเช่นกัน
"ตอนนี้อยู่ปี 1 ยังเรียนรวม ปีหน้าเขาก็จะให้เลือกระหว่างสัตว์เล็ก หมาแมวและปศุสัตว์ หนูจะเลือกปศุสัตว์ค่ะ เพราะจะได้กลับไปทำงานที่บ้านหลังเรียนจบ" นิสิตสัตวแพทย์จุฬาฯ ตั้งความหวังหลังเรียนจบ โดยมองการเลี้ยงโคนม ในปัจจุบันว่ายังมีปัญหาเรื่องอาหารโค อยากพัฒนาสูตรอาหารเพื่อการให้น้ำนมต่อตัวมากขึ้น เพราะขณะนี้ยังค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเต้านมอักเสบ โคไม่กินอาหาร ป่วยง่าย อยากจะใช้ความรู้การจัดการคุณภาพโคและฟาร์มให้ดียิ่ง
"ทุนให้แค่ค่าเทอมอย่างเดียว เทอมละ 3.4 หมื่นบาท ค่ากินอยู่ออกเอง ดีสำหรับครอบครัวหนูด้วย เพราะค่าเทอมค่อนข้างสูง ช่วยผ่อนเบาพ่อแม่ได้ ค่ากินอยู่หนูว่าไม่ได้อะไรมาก" น.ส.ปริสปา กล่าวอย่างภูมิใจ
ปัจจุบัน เปิดรับสมัครผู้ขอรับทุนการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 7 มี.ค.64 สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพัฒนาบุคลากรสหกรณ์ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ โทร.0 2669 4577 สนง.สหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ หรือสหกรณ์โคนม และสหกรณ์การเกษตร ใกล้บ้านทุกวันในเวลาราชการ