ตั้งเป้าพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยในทุกมิติ พร้อมตั้ง 10 ที่ปรึกษา นำทีมโดย 3 ผู้ทรงคุณวุฒิ พิเชษฐ์ อดีตรมช.คลัง-ปชป., สุชัชวีร์ อธิการสจล., ศุภชัย ซีอีโอซีพี และทีมโฆษกโดยเฉพาะ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.64 ที่กระทรวงศึกษาธิการ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนเองมีความพร้อมปฏิบัติหน้าที่และจะทำอย่างเต็มความสามารถในตำแหน่งรักษาการรมว.ศึกษาธิการ โดยจะขับเคลื่อน เดินหน้า และสานต่อนโยบาย เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาไปสู่ตัวผู้เรียนโดยตรงเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการ โดยกระทรวงศึกษาฯจะมุ่งสร้างพื้นฐานให้กับผู้เรียนทั้ง 4 ด้าน ตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 พร้อมทั้งจะปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาก่อนเข้ารับหน้าที่โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติในทุกมิติที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอด โดยโครงการที่จะต้องเร่งรัดและทำให้เกิดเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 1.โครงการบูรณาการการศึกษาจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียน 3 กลุ่ม คือ 1.โรงเรียนคุณภาพของชุมชน 2.โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และ 3.โรงเรียน Stand Alone 2.เดินหน้าโครงการวิทยาศาสตร์พลัง 10 โดยจะขยายโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ STI อย่างกว้างขวาง โดยจะเน้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ ประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันมากขึ้น 3.สร้างจิตอาสาครู และบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจะสร้างครูที่มีจิตอาสา เพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นและนำไปเป็นแบบอย่างดำเนินชีวิตต่อไป ถือเป็นการใช้กระบวนการคิด วิเคราะห์เหตุผล สามารถแยกแยะเรื่อง การคิดถูกต้อง คิดดี ตามหลักวิชาการ ด้วยการน้อมนำพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 10 มาเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติตน 4.ขับเคลื่อนการนำศาสตร์พระราชามา มาสู่การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในสถานศึกษา อย่างเป็นรูปธรรม 5. ส่งเสริมให้เกิดการเรียนภาษาต่างๆ โดยเฉพาะภาษาโค้ดดิ้ง และภาษาอังกฤษ โดยได้เซ็น MOU กับสถานทูตแคนาดา ในการจ้างครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นชาวต่างชาติ 300 คน ด้านภาษาโค้ดดิ้งได้จัดให้มีการอบรมหลักสูตร C4T Plus ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้ง Coding  for Teacher ที่ได้มีการขยายไปกระทรวงต่างๆ ภายใต้คณะกรรมการโค้ดดิ้งแห่งชาติและร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้โค้ดดิ้งครอบคลุมหลากหลายอาชีพมากยิ่งขึ้นภายใต้แนวคิด “Coding for All & All for Coding” ให้เป็นรูปธรรม 6.การส่งเสริมการอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ด้วยสื่อร่วมสมัย และจัดทำ AR เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านธนบัตรมีการอบรมกระบวนการสอนโดยใช้คลิปประวัติศาสตร์น่ารู้ 10 คลิป ที่ได้จัดทำเป็นคลังข้อมูลดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงความสนใจของเด็กในยุคปัจจุบัน รวมถึงการปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการสอนของครูให้ร่วมสมัย 7.ยกระดับอาชีวะศึกษาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งระบบ โดยเฉพาะในส่วนของอาชีวะเกษตร และประมง โดยจะพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเกษตร ถ่ายถอดเทคโนโลยีเกษตรให้กับเยาวชนและชุมชน พร้อมยกระดับและพัฒนาการเรียนการสอนสู่ Digital Farming โดยนำSTI มาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน รวมไปถึงสร้างบรรยากาศห้องเรียนธรรมชาติในสถานศึกษาต้นแบบอาชีวะเกษตรและประมงทั่วประเทศ เพื่อให้นักเรียนอาชีวะเกษตรได้เรียนรู้ ฝึกฝน ฝึกตน ฝึกทักษะชีวิตกับธรรมชาติ 8.โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ได้รับความสนใจจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้กลไกของอาชีวะเกษตรในการขับเคลื่อนโครงการ โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็น ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต ภายใต้ หลักสูตร “ชลกร” เพื่อปั้นนักบริหารจัดการน้ำใน ชุมชน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยเชื่อว่าอาชีวะเกษตรจะสร้างชาติ ด้วยชลกรที่จะเข้ามาเปลี่ยนประเทศไทย 9.ผลักดันข้อเสนอในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยมีเป้าหมายในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของวิชาชีครู ที่เป็นผู้ที่เสียสละในการทำงานใกล้ชิดกับเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชน 10.มอบหมายให้สภาการศึกษาติดตาม กำกับ และเร่งผลักดันในเรื่องพ.ร.บ.การปฏิรูปการศึกษาพ.ศ. ที่ได้ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังได้แต่งตั้งทีมที่ปรึกษา 10 คน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีส่วนสำคัญ ในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย นำโดย นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ประธานคณะที่ปรึกษา, ศาสตราจารย์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่ปรึกษา, นายศุภชัย เจียรวนนท์ ที่ปรึกษา ฯ พร้อมกันนี้ยังได้มีการแต่งตั้งทีมโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร,ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช รองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ คนที่ 1  เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายชยพงศ์ สายฟ้า รองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ คนที่ 2 เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา