นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเปิดเผยว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องที่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัดในฐานะผู้รับสัมปทานปัจจุบันแหล่งเอราวัณ กับบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ฯ(บริษัทในเครือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ในฐานะผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC ในแปลง G1/61 (แหล่งกลุ่มเอราวัณเดิม) ยังไม่สามารถตกลงเรื่องการขอเข้าพื้นที่และเตรียมการดำเนินการต่าง ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) จากระบบสัมปทานที่จะสิ้นสุดระยะเวลาในเดือนเมษายน พ.ศ.2565 ได้ โดยได้เร่งประสานให้ทั้ง 2 ฝ่ายให้มีการเจรจาโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้การเข้าพื้นที่ล่าช้า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นที่อยู่ในกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการทางข้อกฎหมาย ซึ่งอาจมีความเห็นไม่ตรงกันได้และสามารถเกิดขึ้นได้โดยทั่วไปแล้วแต่กรณี แต่การเข้าพื้นที่ของผู้รับสัญญารายใหม่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) นั้น เป็นความจำเป็นที่ต้องได้รับความร่วมมืออย่างเร่งด่วนและจริงใจของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งรายปัจจุบันและรายใหม่ เพื่อการบริหารพลังงานของประเทศจะไม่มีการสะดุด และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งกระทรวงพลังงานโดยกรมฯจะพยายามเร่งให้ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาหารือโดยเร็วที่สุด เพราะเชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายต้องยึดประโยชน์ของคนไทยเป็นหลัก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมในการประสานงานกับทุกฝ่าย หาก ปตท.สผ.เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้า อาจทำให้ ปตท.สผ.ไม่สามารถรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติ แหล่งเอราวัณได้ตามเป้าหมายวันละ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หลังหมดสัญญาสัมปทานปี 2565 โดยเตรียมพร้อมนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี )มาทดแทน ซึ่งหากราคาแอลเอ็นจีในช่วงนั้นสูงกว่าราคาก๊าซฯในอ่าวไทย ณ ช่วงนั้นจะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวสูงกว่าที่ควรจะเป็น