การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เพิ่งปิดฉากลงไป ยังไม่ทันที่คลื่นลมทางการเมืองจะสงบ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ “สนามไชย1” จะได้ใช้เวลาไปกับการบริหารจัดการกับไวรัสโควิด-19 อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ล่าสุดผลจากคำพิพากษาจากศาลอาญาสั่งให้สั่งจำคุก “อดีตแกนนำกปปส.”จากคดีขับไล่รัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และขัดขวางการเลือกตั้งในปี 2557 ปรากฎออกมาเมื่อเย็นย่ำของวันที่ 24 ก.พ.64 จนส่งผลให้เกิด “อาฟเตอร์ช็อค” ทางการเมืองตามมาระลอกใหม่ ที่หนักหนาสาหัสกว่าที่การที่ถูก “6พรรคฝ่ายค้าน” อภิปรายไม่ไว้วางใจ ในสภาฯ ทั้ง 4 วัน 4 คืน ! ไล่หลังเมื่อเสร็จสิ้น ศึกซักฟอก จนมาถึงวันลงคะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจ “10รัฐมนตรี” เมื่อวันเสาร์ที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง อย่างรุนแรง ทั้งปีกฝ่ายค้านเองที่เกิด “งูเห่า” เปิดตัว ลงมติไม่ไว้วางใจ “สวน” กับมติของพรรคอย่างจงใจ ขณะที่ฟากรัฐบาลเอง ก็ดูจะเจอกับสถานการณ์ที่หนักหนาไม่น้อยไปกว่ากัน ผลคะแนนของ 10 รัฐมนตรีมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในรายของ “ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ที่ได้คะแนนโหวตไว้วางใจ น้อยที่สุด จนกลายเป็นติดอันดับบ๊วย โดยในรายของ “เสมา1” นั้นเป็นเสมือน “จุดอ่อน” ที่ถูกกลุ่มก๊วนการเมืองภายในพรรคจ้องถล่มมาตั้งแต่ก่อนถึงวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่งานนี้ทั้ง บิ๊กตู่ และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่เอาด้วย พยายามตีกรรเชียงหนี ไม่ “เซย์เยส” รับลูกเรื่องการปรับครม. มาตั้งแต่แรก เพราะรู้ดีว่าเมื่อใด ที่ “ขยับ”เมื่อนั้น “แรงกดดัน” จะโถมเข้าใส่ทันที ยิ่งเมื่อเวลานี้ ต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐ ไม่สู้ดีนัก เมื่อเกิดปฏิบัติการท้าทายอำนาจมติพรรคขึ้น โดย “กลุ่มดาวฤกษ์” ซึ่งมีด้วยกัน 6 เสียง ที่เลือกแสดงออกด้วยการ “งดออกเสียง” ลงคะแนนไว้วางใจให้กับ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย จนทำให้ “บิ๊กป้อม” ต้องยกหูเคลียร์ใจกับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จนล่าสุด ยังมีรายการ “เอาคืน” กันระหว่างส.ส.ภูมิใจไทยที่พากันวอล์คเอ้าท์ ออกจากห้องประชุมรัฐสภา ในวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการแสดงให้เห็นว่าคนของพรรคภูมิใจไทย ไม่พอใจ พรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่มีมารยาททางการเมือง ! ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ยังคุกรุ่น ปะทุกันขึ้นมาเป็นพักๆ แต่กลับกลายเป็นว่า ต่างฝ่ายต่างใช้เวทีซักฟอกเป็นการ “แก้แค้น” กันเอง ทั้งในพรรคพลังประชารัฐ ลามไปกระทบถึง “สัมพันธภาพ” ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง แน่นอนว่าศึกในพรรคพลังประชารัฐนั้น กำลังจะกลับมาระอุ ทะลุจุดเดือดกันรอบใหม่ เมื่อบัดนี้ “เก้าอี้รัฐมนตรี” ในโควตาของพรรคได้ว่างลงด้วยกัน 2 เก้าอี้ เมื่อ “ครูตั้น” ณัฎฐพล ต้องพ้นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ต้องพ้นจากรัฐมนตรีกระทรวงดีอีเอส อันเป็นผลจากคำพิพากษาของศาลอาญา มีคำสั่งให้ลงโทษ จำคุกอดีตแกนนำกปปส. ซึ่งในคดีนี้มีรัฐมนตรีที่เคยเป็นอดีตแกนนำม็อบกปปส.ด้วยกันถึง 3 ราย ทั้งณัฎฐพล ,พุทธิพงษ์ และ “ถาวร เสนเนียม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โควต้าจากพรรคประชาธิปัตย์ ในความเป็นจริงแล้ว หากไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จนทำให้ “3 รัฐมนตรี” ต้องพ้นจากเก้าอี้ เนื่องจากขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7) พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่เลือกหนทางปรับคณะรัฐมนตรี ตามที่ได้บอกเอาไว้มาหลายครั้ง เพราะรู้ดีว่า ยิ่งปรับ ยิ่งก่อให้เกิด แรงกระเพื่อมตามมาโดยใช่เหตุ เมื่อภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีหลายมุ้ง หลายกลุ่ม ที่พยายามสร้างอำนาจในการต่อรอง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่เก้าอี้รัฐมนตรีด้วยกันทั้งสิ้น ! แม้ในสัปดาห์หน้า กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ จะเรียกประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องการปรับครม. ก็ตามที ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทันที ที่ทุกคนรับรู้คำพิพากษา คดีกปปส. ความเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐก็ขยับขึ้นมาทันใด เก้าอี้รัฐมนตรี 2 ที่นั่งที่ว่างลงล่าสุดนี้ กำลังถูกจับตาจากกลุ่มการเมืองอย่างเขม็งว่าที่สุดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจอย่างไร โดยเฉพาะมีรายงานว่า มีชื่อ “ 3 รัฐมนตรีช่วย” ที่อาจจะได้ “พาสชั้น” ขึ้นไปนั่ง “รัฐมนตรีว่าการฯ” แทน คือ “สันติ พร้อมพัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน และ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทั้ง 3 รัฐมนตรีช่วย ล้วนแล้วแต่เคยมีชื่อติดโผ ว่าจะได้เข้าไปนั่งในเก้าอี้ใหญ่ ระดับ “ว่าการฯ” มาแล้วก่อนหน้านี้ ดังนั้นเมื่อมีตำแหน่งว่างลง ต้องรอลุ้น และวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐว่า จะเลือก “เดินหมาก” บนกระดานรอบนี้อย่างไร จึงจะเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคให้น้อยที่สุด ประคับประคองกันไปจนกว่า การเลือกตั้งรอบหน้าจะมาถึง นั่นหมายความว่า ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ อาจจะไม่ได้ปรับเพียงแค่ 2 เก้าอี้แทนที่ทั้ง ณัฎฐพล และพุทธิพงษ์ เท่านั้น ! หากมองว่า พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคใหญ่แกนนำรัฐบาลเกิดความวุ่นวายแล้ว คงต้องบอกว่านั่นเป็นความจริงแค่ส่วนเดียว เพราะเมื่อหันไปมองความเคลื่อนไหวใน “พรรคประชาธิปัตย์”แล้วจะพบว่า “ยุ่งเหมือนยุงตีกัน” ก็คงไม่ผิดนัก ! เพราะเวลานี้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคเอง ยังเคลียร์ใจไม่จบกับ ปัญหาภายใน เมื่อ “ลูกพรรค” ลูบคมด้วยการไม่โหวตยกมือสนับสนุนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา มิหนำซ้ำ พรรคยังไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจาก มาตรา 114 ในรัฐธรรมนูญได้เปิดช่องให้ส.ส.ไม่ต้องอยู่ภายในอาณัติของ “มติพรรค” ให้ยึดถือประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงชัดเจนว่าศึกในประชาธิปัตย์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดายที่จะใช้ ไม้อ่อนหรือไม้แข็งเข้าจัดการ และเมื่อผนวกเข้ากับเรื่องใหม่ที่ว่าการปรับเปลี่ยน “ผู้เล่น” ต้องหาคนไปแทน ถาวร เสนเนียมที่ต้องหลุดจากเก้าอี้รัฐมนตรี ในท่ามกลางกระแสแห่งความขัดแย้งภายใน จึงไม่ต้องแปลกใจที่จะพบว่า บรรยากาศในพรรคกำลังกลับมาเขม็งเกลียวกันอีกครั้ง ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้โควต้ารัฐมนตรีจากพลังประชารัฐด้วยกัน “7ที่นั่ง” มีการถกเถียงกันก่อนที่จะได้ข้อสรุปว่า ในโควตาของส.ส.ภาคใต้ จะเหลือเพียง 2 ที่นั่ง ไม่นับรวม เก้าอี้ของจุรินทร์ ในฐานะหัวหน้าพรรค แต่ที่สุดก็ยังคงเกิดข้อขัดแย้งอยู่ดี เมื่อปรากฎว่า ทั้ง “นิพนธ์ บุญญามณี” ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และยังให้ตำแหน่งแก่ถาวร นั่งเก้าอี้รมช.คมนาคม ทั้งที่ทั้งคู่มาจากจังหวัดสงขลาเหมือนกัน แต่ด้วยเพราะพรรคต้องการยุติความขัดแย้งระหว่าง “กลุ่มกปปส.” กับ กลุ่ม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในครั้งนั้นจึงยอมเปิดโควตาให้กับถาวร ดังนั้นเมื่อวันนี้เก้าอี้ของถาวร ว่างลง และแน่นอนว่าประชาธิปัตย์จะไม่เลือก “ตอบแทน” อย่างใด อย่างหนึ่งให้กับกลุ่มกปปส.อีก จึงทำให้โควต้าจะต้องกลับมาอยู่ที่ส.ส.ภาคใต้ ซึ่งอาจจะเป็นการลดความวุ่นวายลง ได้ส่วนหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าส.ส.ภาคใต้ คนใดที่จะเหมาะสม ได้รับไฟเขียวจากกลุ่มของหัวหน้าพรรค ให้ขึ้นมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรี แทนถาวร อย่าลืมว่าในความเป็นจริงแล้ว ความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ นั้นก็เป็นเหมือน “คลื่นลม” ที่ไม่เคยสงบนิ่ง สถานการณ์ที่อยู่เบื้องหน้าพล.อ.ประยุทธ์ เวลานี้ จึงเต็มไปด้วยฝุ่นตลบ หลังจากที่เกิดอาฟเตอร์ช็อค เมื่อสิ้นเสียงคำพิพากษาคดีกบฏกปปส. เพียงไม่กี่นาที โถมเข้าใส่ เพื่อบีบให้ บิ๊กตู่ต้องตัดสินใจ อย่างเลี่ยงไม่ได้ !